ดร.อานนท์ เอื้อตระกูล

สูตรของหมอพื้นบ้าน คุณลุงสิทธิ์ มณีแก้ว แห่งอำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา ที่ได้สูตรอาหารเหนือรักษามะเร็งของพ่อที่เป็นมะเร็งระยะสุดท้าย แล้วหมอให้เอากลับมาสิ้นใจที่บ้าน โดยพ่อบอกว่า ก่อนตาย ขอกินอาหารที่ชอบที่สุด รอมานานแล้ว เพราะถูกหมอห้ามกินมาตั้งแต่รู้ว่าเป็นมะเร็ง และต้องรักษาตามวิธีการแพทย์แผนใหม่ แต่แทนที่ แกงแคดังกล่าว จะเป็นมื้อสุดท้ายของพ่อคุณลุงสิทธิ์ ก่อนที่จะเสียชีวิต ปรากฏว่า หลังจกทานแกงแคหม้อนี้ไปแล้ว พ่อของลุงสิทธิ์กลับดีวันดีคืน จนหายเป็นปกติ(เพราะกินแกงแคมาโดยตลอดไม่ใช่กินแค่มื้อเดียวแล้วหาย) ดังนั้น จึงได้มีการเผยแพร่สูตรทำแกงแค ที่ทำให้พ่อของลุงสิทธิ์มีชีวิตอยู่ต่อได้อีกเกือบสิบปี แล้วก็ตายเพราะพิษสุราเรื้อรัง สูตร ที่ลุงสิทธิ์ได้อนุญาตให้ผมนำมาเผยแพร่ มีดังนี้ครับ

เด๊าแด๊บๆ แอบติดไม้ ไส้กลางดง

ปงแค้นแดด แตดงวงจ้าง แม่ห้างสามผัว

ดุ่นหลัวกินได้ คล้ายเรือนแตนที๋ จี้รี้ปากกา เ

ซาะหาตามฮั้ว ตั๋วเป็นหนาม ถามไม้ปากโต๊ดฟอก

นี่เป็นภาษาพื้นบ้านของคนทางเหนือ ผมจะค่อยๆแกะที่ละตัวให้ คำว่า

1.เด๊าแด๊บๆๆ คือ ผักเผ็ด หรือผักคราดหัวแหวน Oara Cress มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Acmella oleracea(L.) R.K. Jansen

ซึ่งเป็นพืชที่มีคุณสมบัติพิเศษ เวลาทานแล้วจะซ่าที่ลิ้น คล้ายๆพริกไทย แต่ซ่ามากกว่า ที่อินเดียและจีนใช้เป็นยาชา รักษาโรคเกี่ยวกับทวาร ริดสีดวงทวาร อาการตัวเหลือง แก้อักเสบในช่องปาก แก้ปวดฟัน ซึ่งเจ้าผักเผ็ดนี้ มีอยู่ด้วยกันสองชนิด คือ ผักเผ็ดเล็ก ซึ่งรสชาติหอมและซ่ามากกว่า นิยมนำมาใส่แกงแค อีกชนิดหนึ่งคือ ผักเผ็ดหลวง มีรสหอมและซ่าน้อยกว่า ในกรณีที่หาไม่ได้จริงๆก็จะใช้ผักเผ็ดหลวงแทนก็ได้ แม้รสชาติจะไม่เข้มข้นเท่า ผมเองในฐานะเป็นคนเหนือ และก็ชอบแกงแคเป็นชีวิตจิตใจ แม้ไปอยู่ต่างประเทศกว่ายี่สิบปี ผมก็ขอให้ทางบ้านจากจังหวัดแพร่ ตำน้ำพริกแกงแคสำเร็จรูปเอาไว้ เก็บใส่ไว้ในตู้เย็น จะใช้เมื่อไหร่ก็จะตักเอาน้ำพริกแกงมาทำแกงแค ส่วนผักเผ็ดนั้นก็เหลือเชื่อครับ ไม่ว่าผมจะไปอยู่ประเทศไหน ทั้งในเอเซียเช่น ภูฎาน เนปาล อินเดีย ศรีลังกา ฟิลิปปินส์ ก็หาต้นผักเผ็ดได้ไม่ยาก แม้ทางแอฟริกาทั้งทางตะวันตกและทางใต้ ก็มี

นอกจากนี้ ยังมีต้นผักที่ใช้แทนกันได้ รสชาติคล้ายกันมาก ที่เรียกว่า ผักคออ่อน หรือผักเผ็ดขมุ Crassocephalum crepidioides

ผักเผ็ด หรือผักคราดหัวแหวน Oara Cress มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Acmella oleracea(L.) R.K. Jansen

ผักเผ็ดเล็ก รสซ่ามากกว่า

ผักเผ็ดหลวง มีเยอะ รสไม่ซ่ามาก ไม่หอมเหมือนพันธุ์เล็ก

ผักเผ็ดหลวงหากหาพันธุ์เล็กไม่ได้ ก็จำเป็นต้องใช้ผักเผ็ดหลวงแทน

ผักเผ็ดขมุหรือผักคออ่อนCrassocephalum crepidioides ผมใช้ค่อนข้างเยอะ ตอนอยู่ที่ประเทศที่อยู่สูงบนเขา มักจะเจอผักชนิดนี้เยอะ ผมชอบ เพราะได้เนื้อผักเยอะ และหอมมาก ผมมักจะเก็บเอาทั้งต้นใส่ไว้ในรถ กลิ่นหอม ช่วยดับกลิ่นได้ดี

2.รายการต่อไป แอบติดไม้ ก็คือ เห็ดหูหนู หรือทางเหนือเรียกว่า เห็ดหูลั๊วะครับ Auricularia polytricha

นี่ก็เป็นยาชัดๆเลยครับ เพราะเห็ดหูหนูอุดมไปด้วยสารเบต้ากลูแคน ที่ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกายเป็นอย่างดี มีวิตามีนซีสูง ช่วยทางด้านป้องกันและรักษาไข้หวัดได้เป็นอย่างดี ตอนที่ผมไปสอนเรื่องเห็ดอยู่ที่ประเทศภูฎาน(ระหว่างปี 2524-2528) คนทิเบต และคนภูฎานเขาเห็นผมเอาเห็ดหูหนูที่เพาะได้ไปโชว์เขา ใหม่ๆเขาไม่เชื่อว่า เห็ดหูหนูเพาะได้ เขาบอกว่า มันมาจากพระเจ้าประทาน เป็นของธรรมชาติ ลามะ(พระทิเบต)บางองค์บอกผมว่า หากผมเพาะเห็ดหูหนูได้จริง น้ำจะไหลขึ้นเขา ไม่ใช่ว่าจะไหลลงจากเขา เพราะนั่นก็หมายความว่า เขาไม่เชื่อว่า เห็ดหูหนูเพาะได้ ทางภูฎานและทิเบต เวลาเขาเจอเห็ดหูหนูตามป่า เขาจะเก็บเอาไว้เป็นยาประจำบ้าน สำหรับรักษาผู้ป่วยเป็นไข้ขึ้นสูง หรือไข้หวัด บางรายบอกว่า มันหายากจนกระทั่ง หากมีเห็ดหูหนูเก็บไว้เป็นยาสามัญประจำบ้าน หากมีคนในบ้านป่วย และจำเป็นจะต้องให้เห็ดหูหนูทาน จะต้องมีข้อแม้เป็นสัญญาว่า ผู้ที่กำลังจะได้มีโอกาสทานเห็ดหูหนูนั้น จะต้องห้ามเคี้ยวเห็ดหูหนูโดยเด็ดขาด ให้กลืนเข้าไปโดยต้องไม่ทำลายรูปทรงของเห็ดหูหนู เผื่อให้มันผ่านท้องแล้วถ่ายออกมาต้องให้อยู่ในสภาพที่สามารถเก็บเอาไปใช้สำหรับผู้ป่วยรายต่อไปอีก(สมมุติว่า ผมเป็นคนทิเบต และป่วย และจะต้องทานเห็ดหูหนูเป็นยา ผมคงขอทานเป็นคนแรก และยอมที่จะไม่เคี้ยวก็ได้ แต่ผมจะปฏิเสธที่จะทานเป็นรายต่อไป แม้ว่า มันผ่านขบวนการซักล้างอย่างดีก็ตาม ผมขอหายจากโรคเสียก่อนน่าจะดีกว่าครับ)

แต่ก็ขอเตือนครับว่า ส่วนผสมบางอย่างที่ผมกล่าวมานี้ หากท่านจะติดตาม และเห็นด้วยที่ท่านจะเอาไปใช้นั้น ขอให้ท่านไตร่ตรองอย่างดีเสียก่อน  ยกตัวอย่าง คือ เรื่องเห็ดหูหนูนี้ ต้องขอเตือนอย่างแรง ขอเน้นเลยว่า ควรเป็นเห็ดหูหนูปลอดสารพิษจริงๆ โดยเฉพาะเห็ดหูหนูนำเข้า หากไม่จำเป็นจริงๆควรหลีกเลี่ยงเลยครับ เพราะอุดมไปด้วยสารพิษตกค้างเกินกว่าที่มนุษย์จะทานได้ ไม่ว่าจะเป็นยาฆ่าแมลงและธาตุหนักอันตราย ได้มีการนำเอาเห็ดหูหนูนำเข้าไปวิเคราะห์ ตรวจสอบสารพิษส่วนใหญ่ มีสารพิษสูงมาก แต่เนื่องจาก ผู้ที่มีอำนาจในการอนุญาตให้นำเข้าคือ อย. ที่มักจะเน้นการตรวจเอกสาร มากกว่า ที่จะนำเอาอาหารที่เต็มไปด้วยสารพิษไปตรวจสอบในห้องแลป ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงครับ เพราะแทนที่เราจะได้สรรพคุณทางยา แต่กลับได้ยาพิษเพิ่มเข้าไปอีก ไม่ใช่ให้ระวังเฉพาะของนำเข้า ของที่เราเพาะกันในประเทศก็ต้องระวังด้วย เพราะมีผู้เพาะเห้ดหูหนูบางราย นำเอายาฆ่าแมลงชนิดร้ายแรง ที่เขาห้ามใช้กับผักและเห้ด และห้ามนำเข้า ผู้เพาะบางรายรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ต้องการแก้ปัญหาการระบาดของไรไข่ปลา เลยใช้ยาฆ่าแมลงชนิดร้ายแรงผสมเข้าไปในวัสดุเพาะเลย อย่างนี้ ผู้บริโภคก็จะได้รับอันตรายด้วย ดังนั้น หากเป็นไปได้ ควรตรวจสอบถึงแหล่งเพาะให้ดีๆก็แล้วกันครับ