มหัศจรรย์เห็ดเป็นยา

ดร.อานนท์ เอื้อตระกูล
ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส(เห็ด)
องค์การสหประชาชาติ ปี พ.ศ. 2524-2548

ตลอดเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา ชีวิตของผมได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับเห็ดจากครอบครัวที่มีอาชีพทำการค้าขายพืชไร่ อยู่ที่บ้านร่องกาศ อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ หลังจากฤดูเก็บเกี่ยวข้าว ทางบ้านก็จะเอาฟางมาทำการเพาะเห็ดฟางแบบกองสูง ใช้ฟางครั้งละ 40-60 ฟ่อนต่อการเพาะ 1 กอง ใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ดอกเห็ดฟางก็จะเกิดขึ้น มีให้เก็บเกี่ยวผลผลิตไปเรื่อยๆ แต่ผลผลิตที่ได้จะไม่สม่ำเสมอเป็นเวลาเกือบเดือน พอหลังฤดูเก็บเกี่ยวถั่วลิสง ถั่วเหลือง ทางบ้านก็จะเอามากองสุมกันประมาณ 60-70 ซม. คลุมด้วยทางมะพร้าวหรือหญ้าคา รดด้วยน้ำซาวข้าว ประมาณ 10-12 วันก็จะมีเห็ดถั่ว(ปัจจุบันเรียก เห็ดโคนน้อย)เกิดขึ้น เห็ดชนิดนี้สามารถเก็บผลผลิตได้เฉพาะตอนบ่าย พอตกพลบค่ำตอนกลางคืนดอกเห็ดก็จะบาน ตอนเช้ากลายเป็นเห็ดหมึกไป

เมื่อผมมีโอกาสเข้าเป็นนิสิตของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2515 ซึ่งเป็นระยะที่นักศึกษากำลังเริ่มมีบทบาททางการเมือง มีการต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นแล้วพัฒนาขึ้นมาเป็นการขับไล่รัฐบาลเผด็จการ แต่ผมไม่ได้สนใจกิจกรรมทางการเมืองเป็นพิเศษ จึงเลือกที่จะทำกิจกรรมประเภทอื่น โดยตัดสินใจเข้าร่วมกับชมรมเห็ดของมหาวิทยาลัยที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นมาใหม่ ขณะนั้นประเทศไทยยังสั่งเห็ดจากต่างประเทศเข้ามาบริโภคเป็นเงินปีละหลายร้อยล้านบาท ทั้งนี้เนื่องจาก คนไทยแทบไม่มีความรู้เรื่องการเพาะเห็ดเลย ยกเว้นทำการเพาะเห็ดฟางแบบกองสูงที่ให้ผลผลิตไม่แน่นอนและต่ำมาก แม้ว่าเรามีหน่วยงานที่รับผิดชอบในการศึกษาวิจัยเรื่องเห็ด ที่สังกัดอยู่ในกรมวิชาการเกษตรมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2489 แต่ความรู้ก็วนเวียนอยู่เฉพาะนักวิชาการเท่านั้น หลังจากที่ผมได้เข้าร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับเห็ด ได้นำกรรมการของชมรมเห็ดทำการส่งเสริมและฝึกวิชาชีพการทำเชื้อและเพาะเห็ดให้แก่ประชาชนผู้สนใจทั่วไป และได้ทำการพัฒนาวิธีการเพาะเห็ดต่างๆหลายชนิด โดยในปี พ.ศ. 2517 ผมได้ทำการพัฒนาวิธีการเพาะเห็ดฟางในโรงเรือนเป็นผลสำเร็จ นับว่าเป็นกรรมวิธีที่ทำให้เราสามารถเพาะเห็ดฟางให้ได้ผลผลิตแน่นอนตลอดทั้งปี ให้ผลผลิตสูงมาก ผลสำเร็จดังกล่าว นอกจากจะได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่น จากกรมวิชาการเกษตรแล้ว ทำให้ในปี 2520 เราได้เปลี่ยนสถานะจากเป็นประเทศที่นำเข้าเห็ดมาบริโภค กลับกลายเป็นประเทศที่สามารถผลิตเห็ดบริโภคได้อย่างเพียงพอ มีบางส่วนส่งออกไปยังประเทศใกล้เคียง ผลผลิตของเห็ดฟางที่ได้โดยรวมต่อปีมากที่สุดในโลก

ในต้นปีดังกล่าว ผมได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และกราบบังคมทูลรายงานเกี่ยวกับการพัฒนาวงการเห็ดไทยแนวใหม่ เมื่อครั้งที่ผมได้นำคณะวิทยากรจากกรมวิชาการเกษตร ไปทำการอบรมเห็ดให้แก่นายทหารที่ค่ายกาวิละ จังหวัดเชียงใหม่ และปลายปีเดียวกัน ได้ทำการก่อตั้งสมาคมนักวิจัยและเพาะเห็ดแห่งประเทศไทยอย่างเป็นทางการขึ้นเป็นผลสำเร็จ หลังจากมีความพยายามก่อตั้งสมาคมเห็ดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2516 โดยได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี เสด็จพระดำเนินทรงเป็นประธานพิธีเปิดป้ายสมาคมนักวิจัยและเพาะเห็ดแห่งประเทศไทย โดยผมเป็นเลขาธิการสมาคมคนแรก ในปี 2522 ผมได้ทำการศึกษาวิจัยทำการเพาะเห็ดหอมในถุงพลาสติกประสพผลสำเร็จ โดยไม่จำเป็นต้องเพาะในขอนไม้ ที่ส่วนใหญ่ต้องใช้ไม้ก่อ ที่เป็นไม้ที่เกิดบนภูเขาสูง ต้นน้ำลำธาร ผลสำเร็จทั้งการเพาะเห็ดฟางในโรงเรือน และเพาะเห็ดหอมในถุงเป็นผลสำเร็จ ทำให้ปี พ.ศ. 2523 ผู้อำนวยการองค์การอาหารและเกษตร(FAO) แห่งสหประชาชาติ ประจำภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิค โดย DR. D.L. Umali พร้อมทั้งพระปิตุลา(ลุง)ของกษัตริย์ประเทศภูฎานและอธิบดีกรมป่าไม้ ได้มาเชิญให้ผมไปเป็นผู้เชี่ยวชาญเห็ดขององค์การ ประจำประเทศภูฎานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524-28 จากนั้นก็ได้รับเชิญต่อไปอีกหลายประเทศในเอเชีย อันได้แก่ ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา เนปาล บังคลาเทศ อินเดีย

ในปี พ.ศ.2532 ได้มีโอกาสไปประจำประเทศต่างๆในทวีปแอฟริกาอันได้แก่ กานา ไลบีเรีย เซียรา ลีโอน โตโก เบนิน แอฟริกาใต้ นามิเบีย เลโซโถ สวาซิแลนด์ บอสวานา เป็นต้น จนถึงปี 2548 จึงเกษียนตัวเองกลับมาใช้ชีวิตเป็นเกษตรกรเต็มตัว ด้วยการทำเชื้อและเพาะเห็ด ทำอาหารเสริมและเปิดสถาบันฝึกอบรมเห็ดให้แก่ผู้สนใจ บนพื้นที่ 6 ไร่ ในซอยไอยรา 38 ต.คลองสอง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ใกล้ๆตลาดไท