เวลาผมไปบรรยายตามสถานศึกษาหลายแห่งที่ผ่านมา ทั้งในไทยและต่างประเทศ มันจะมีนักศึกษาหรือนักวิชาการที่มีความสนใจอยากจะไปทำงานต่างประเทศอย่างผม ซึ่งผมมักจะถูกถามเสมอว่า ผมจบอะไรมา แล้วผมไปสมัครเข้าทำงานขององค์การสหประชาชาติได้อย่างไร ต้องไปสมัครที่ไหน ติดต่อกับใคร มีเส้นมีสายไหม แล้วต้องเน้นอะไรเป็นพิเศษจึงจะเข้าทำงานกับองค์การสหประชาชาติได้ แล้วคนที่ทำงานเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องนั้น ต้องมีอายุเท่าไหร่

คำตอบที่ผมให้ไปทุกครั้งก็คือ “ไม่รู้” ยิ่งถามว่า จบอะไรมา ถึงได้ไปเป็นผู้เชี่ยวชาญเห็ด ให้แก่องค์การอาหารและเกษตร แห่งสหประชาชาติ หรือที่เรียกว่า FAO ระหว่างปี 2524-2528 ผมก็บอกว่า ตอนที่ผมได้รับเชิญ(คำว่าเชิญ คือ เขาเชิญให้ไปเป็นไง ไม่ได้สอบ ไม่ได้สมัครไง) ผมจบระดับปริญญาตรีเท่านั้น แถมจบทางด้านเกษตร(พืชไร่) ซึ่งแทบไม่มีอะไรไปเกี่ยวไปข้องกับเรื่อง เห็ดเลย แล้วตอนที่เขาเชิญผมไปเป็นผู้เชี่ยวชาญนั้น ผมอายุแค่ 28 ปีเอง ซึ่งส่วนใหญ่ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องสมัยนั้น ก็จะเป็นผู้ที่มีผลงานโชกโชน มีการตีพิมพ์เป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก แต่ผมไม่มีเลย

เหตุที่เขาเชิญผมไปเป็น ก็เพราะกษัตริย์ของประเทศภูฎานสมัยนั้น ท่านชอบเห็ดมาก มีทหารถึง 26 นายที่คอยเก็บเห็ดจากป่าที่มีอยู่ที่ประเทศมาถวายเป็นประจำ ตอนหลังท่านขอให้ส่งผู้เชี่ยวชาญเรื่องเห็ดระดับเก่งที่สุดในโลกไปหลายคน เสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลา แต่ก็ไม่มีกิจกรรมการเพาะเห็ดอะไรเกิดขึ้นเลย ด้วยเหตุนี้ ผู้อำนวยการเอฟเอโอ ประจำภาคพื้นเอเซียและแปซิฟิก ซึ่งเป็นคนฟิลิปปินส์ ที่กำลังจะเกษียณอายุการทำงาน ท่านทราบว่า ตลอดเวลาที่ทำงานอยู่ในประเทศไทยกว่า 13 ปี จู่ๆมาทำไมระยะหลังจึงมีข่าวเรื่องการเพาะเห็ดและมีเห็ดขายในตลาดมากมาย ท่านจึงขอให้เจ้าหน้าที่ของท่านติดตามสืบเสาะดูว่า ใครมีบทบาทด้านนี้ ผลสุดท้ายท่านได้เดินทางมาพบผมขณะที่ผมทำงานเป็นนักวิจัยเห็ดอยู่ที่กรมวิชาการเกษตร พอได้คุยกับผม(ผมก็คุยภาษาอังกฤษก็ไม่เป็น ฟังก็ไม่ค่อยออก โชคดีที่ท่านมากับล่าม ก็เลยเข้าใจ)

ผมก็พาท่านไปดูโรงเพาะเห็ด ที่ผมทำวิจัยอยู่ พอท่านดูแล้ว ท่านพอใจมาก อีกสองวันต่อมาท่านส่งลูกและคนใช้ของท่านที่เป็นคนฟิลิปปินส์ มาเรียนเรื่องเห็ดกับผม แล้วท่านก็ขอให้ผมพาท่านไปดูฟาร์มเห็ดแถวๆกระทุ่มแบน แล้วท่านก็บอกว่า ท่านเจอผู้เชี่ยวชาญเห็ดตัวจริงที่โลกต้องการ ท่านบอกว่า ท่านจะส่งผมไปเป็นผู้เชี่ยวชาญเห็ด ผมตอบสวนทันทีว่า “ไม่ เป็นไปไม่ได้ เพราะผมพูดภาษาอังกฤษและฟังไม่เป็น ไม่รู้เรื่อง” ผมก็คิดว่า คำปฏิเสธของผมก็น่าจะหยุดอยู่แค่นั้น ที่ไหนได้ อีกสามเดือนต่อมา ท่านบอกว่า ขอให้ผมเตรียมตัวไปเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ประเทศภูฎาน พร้อมกันนั้น ท่านได้เชิญคุณลุงของกษัตริย์และอธิบดีกรมป่าไม้ ของภูฎานมาดูผลงานผม ทุกคนเห็นพ้องว่า ต้องเอาผมไปเป็นผู้เชี่ยวชาญที่นั่น เพราะท่านบอกว่า ที่ผ่านมา ท่านส่งผู้เชี่ยวชาญเห็ดที่มีความรู้มากไปหลายท่าน(Know-how expert) ก็ไม่เกิดผลอะไรขึ้นเลย แต่พอมาเจอผม ท่านมั่นใจว่า ผมสามารถไปสอนด้านการปฏิบัติให้แก่คนภูฎานได้ โดยท่านบอกว่า ท่านเจอผู้เชี่ยวชาญระดับปฏิบัติการแล้ว(Do how expert)

ผมก็ปฏิเสธอยู่ดี เพราะผมกำลังปิ้งกับลูกศิษย์ผมคนหนึ่งที่ชื่อ เยาวนุช ตั้งสกุลอยู่ โดยตกลงกันว่า เราจะแต่งงานกันเร็วๆนี้ ผมก็เลยบอกความจริงท่านว่า ผมไปไม่ได้ เพราะพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญก็คือ กำลังจะแต่งงานไง พอท่านฟังเท่านั้น ท่านพาผมและว่าที่เจ้าสาวไปบ้านท่านที่ซอยอโศก 23 ปากทางเข้ามหาวิทยาลัยประสานมิตร ไปพบภรรยาท่านแล้วก็ขอให้ผมกำหนดวันแต่งงานและท่านจะขอให้ทางสำนักงานของท่านเป็นเจ้าภาพ(นี่ผมกำลังอรัมภบท ที่จะโยงไปถึงเรื่อง โรงเพาะเห็ดแบบปิด ที่จะนำมาเสนอต่อไป แต่ขอให้ทนฟังประวัติสักนิดน๊ะครับ) สามภาพหลังคือ ภาพของศาสตราจารย์ ดร.ดี แอล อุมาลี ผู้ผลักดันให้ผมได้เป็นผู้เชี่ยวชาญเห็ดขององค์การสหประชาชาติ และท่านทำทุกอย่างที่จะทำให้ผมไปเป็นให้ได้ แม้กระทั่งจัดงานแต่งงาน ราวกะจัดนิทรรศการเห็ด เพราะคนที่ไปร่วมเป็นลูกศิษย์และคณะของ เอฟเอโอ อาหาร แม้กระทั่งของหวานเป็นเห็ดทั้งน้าน

[envira-gallery id=”3997″]

ที่ผมอรัมภบทถึงชะตาชีวิตที่ผันตัวเองไปเป็นผู้เชี่ยวชาญเห็ดขององค์การอาหารและเกษตร แห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศภูฎาน ระหว่างปี 2524-2528 นั้น ไม่ใช่ว่า ต้องการจะอวด จะคุยว่า ผมมีอะไรดีอะไรเด่นเกินมนุษย์คนอื่นเขา ในทางตรงกันข้าม ผมแทบไม่มีคุณสมบัติอันใดเลย ที่เหมาะสมที่จะไปเป็นผู้เชี่ยวชาญในองค์การเช่นนี้ เพราะผมแทบจะไม่มีอะไรสักอย่างที่เป็นมาตรฐานที่เขาจะรับให้เข้าทำงานด้วย ผมเพียงแต่เพาะเห็ดให้ออกดอกเป็นเท่านั้น

ดังนั้น เรื่องที่จะให้ได้มาซึ่งคุณสมบัติตามมาตรฐานขององค์การนี้ ทาง ดร.ดี แอล อุมาลี จะต้องออกเงินเอง จ้างผู้ที่เชี่ยวชาญด้านภาษา มาแปลเอกสาร หนังสือเกี่ยวกับเห็ดที่เป็นภาษาไทยหลายเล่ม แล้วรีบส่งไปตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษแจกไปทั่วโลก อันได้แก่ วิธีการเพาะเห้ดฟาง การเพาะเห็ดหูหนู และเห็ดนางรม อย่างละสองหมื่นเล่ม ซึ่งเหลือเชื่อมาก เวลาไม่ถึงหกเดือน หนังสือที่ผมเขียนที่ถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษนั้นหมดเกลี้ยง นอกจากนั้น ท่านส่งผมไปดูงานยังประเทศต่างๆที่เขาเพาะเห็ดกัน เริ่มตั้งแต่ฮ่องกง เกาหลี ญี่ปุ่น อเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี เนเธอร์แลนด์ เยอรมัน สวิสเซอร์แลนด์ อินเดีย เพื่อจะได้มีบันทึกว่า ผมผ่านการดูงานและฝึกงานมาแล้วทั่วโลก ทำให้ประวัติผมดูดี เหมาะสมที่จะเป็นผู้เชี่ยวชาญ

ทีนี้ หลังจากผมจบเทอมการทำงานที่ประเทศภูฎานแล้ว ดร.ดี แอล อุมาลี ก็ให้ผมไปเป็นผู้เชี่ยวชาญเห็ดต่อที่ประเทศฟิลิปปินส์ อยู่ที่บ้านท่าน ที่อยู่หน้ามหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ ลอสเบญอส ท่านเป็นผู้ก่อตั้งและบิดาแห่งพันธุศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยนี้ แล้วท่านก็ส่งผมไปทำงานเกาะมินดาเนา ที่เมืองโกตาโบต้าใต้ ซึ่งผมได้รับมอบเครื่องบินให้ใช้ปฏิบัติหน้าที่อยู่สองลำ สำหรับไปสอนเรื่องเห็ดในย่านนี้ กำหนดทีแรก ผมต้องอยู่ที่ประเทศฟิลิปปินส์สองปี แต่ผมอยู่ได้ สามเดือน ผมก็ขอหยุดสัญญา เพราะผมยอมรับว่า ผมอยู่ที่ประเทศฟิลิปปินส์ไม่ไหว เนื่องจากระบบการทำงานของทางการ ที่มีนักวิชาการที่จบด๊อกเตอร์ ที่เรียกตัวเองว่า ผู้เชี่ยวชาญ หรือศาสตราจารย์เต็มบ้านเต็มเมือง คุยถึงเรื่องทฤษฏีเป็นน้ำไหลไฟดับ แต่แทบจะไม่ได้ลงไมลงมือทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน  จริงๆแล้ว ก่อนที่ประเทศไทยจะเพาะเห็ดฟางได้สำเร็จ ก็เป็นเพราะ อาจารย์ก่าน ชลวิจารณ์มาเรียนจากประเทศนี้เมื่อปี 2489 รวมทั้งการเพาะเลี้ยงกล้วยไม้ และปลูกองุ่น แต่กลับกันว่า อีกไม่นานฟิลิปปินส์ก็ยังตามหลังและห่างชั้นจากเรามาก เพราะความที่มีผู้เชี่ยวชาญมากเกินไป

แต่สาเหตุที่ผมอยู่ที่ฟิลิปปินส์ต่อไปไม่ได้ ก็เพราะพื้นที่ผมไปสอน เป็นแดนที่มีปัญหาการเมือง ผมเคยไปสอนที่เมืองๆหนึ่ง โดยเดินทางไปทางเครื่องบินส่วนตัวดังกล่าวแล้วร่อนลงที่สนามฟุตบอล อยู่ที่นั่นประมาณสัปดาห์ แล้วจึงกลับมาในเมืองแค่สามวัน ก็เกิดโศกนาฏกรรม มีการโยนระเบิดเข้าไปยังมัสยิดขณะที่มีชาวบ้านเข้าไปสวด มีคนตายกว่า 183 ศพ ตรงนี้แหละที่ผมอยู่ไม่ไหวแล้ว จึงขออนุญาต ดร.อุมาลี ย้ายประเทศ เปลี่ยนมาสอนอยู่ที่ศรีลังกาแทน ตรงนี้ครับที่มีโอกาสได้เจอกับคุณชาลีและป้าต๋อยในช่วงปี 2528-2532 แต่ก็เหมือนกับหนีเสือ ปะจรเข้ ช่วงที่ผมอยู่ที่ศรีลังกา ก็เกิดสงครามกลางเมืองตลอดเวลา แต่ก็อยู่จนครบเทอม ก่อนที่จะย้ายไปเป็นผู้เชี่ยวชาญเห็ด ขององค์การค้าโลก(เพราะเขาให้เงินเดือนสูงกว่า จากเดือนละ 6.200 เป็น 15,000 ดอลลาร์) ประจำประเทศกาน่า แอฟริกาตะวันตก และก็อยู่ที่แอฟริกาจนถึงปี 2548 ครับ

ที่พูดมาเสียยืดยาว เพื่อจะบอกให้ทราบว่า การไปสอน หรือที่เขาเรียกว่า ผู้เชี่ยวชาญในประเทศด้อยพัฒนานั้น เป็นเรื่องที่ยุ่งยาก ไม่ได้ได้เป็นเรื่องง่ายหรือสบายเลย แล้วประเทศที่ผมไปอยู่ส่วนใหญ่เจอปัญหาแห้งแล้ง ไม่ค่อยมีไฟฟ้าแล้วจะทำอย่างไรดีที่จะส่งเสริมให้เขาเพาะเห็ดให้ได้ คำตอบก็คือ มีทางเลือกเดียวคือ ต้องเพาะแบบระบบปิด นำเอาจุดที่มีปัญหา เอามาเป็นจุดเด่น นั่นก็คือ อากาศที่ร้อน และแห้งแล้ง นั่นก็หมายความว่า น้ำจะระเหยไปได้อย่างรวดเร็วมาก ซึ่งการที่น้ำระเหยไปได้อย่างรวดเร็ว ที่เปลี่ยนสถานะจากของเหลวให้เป็นไอนั้น มันจะมีการดูดเอาความร้อนแฝงออกไปด้วย ทำให้จุดที่ใกล้น้ำระเหยนั้นอุณหภูมิลดลง ทำให้อุณหภูมิในห้องที่เราจะเพาะเห็ดเย็นลง สามารถใช้เป็นสถานที่เพาะเห็ดได้(สังเกตดีๆน๊ะครับ ขนาดผมจะไปสอนการเพาะเห็ดที่ฟิลิปปินส์โดยเดินทางไปทางเครื่องบินสี่ที่นั่งสองลำ ผมต้องถือปืนกลไปด้วย เพื่อป้องกันตัวเอง แล้วผมจะไปเสี่ยงชีวิตเช่นนี้ทำไม ผมจึงเป็นโรคกลัวปืน กลัวแม้กระทั่งคนมีอำนาจถือปืน)

[envira-gallery id=”4089″]

ใส่ความเห็น