เอ็นไซม์ ตอนที่ 6

ดร.อานนท์ เอื้อตระกูล

Sun Nov 21, 2010 1:04 pm

เพิ่มระดับพลังงานให้กับร่างกาย

ในแต่ละวัน ร่างกายของเราต้องใช้พลังงานส่วนหนึ่งไปในการจัดการกับความเครียด ที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงาน ภาวะเศรษฐกิจ และความสัมพันธ์กับบุคคลต่างๆ ทำให้ร่างกายไม่สดชื่น และมีพลังงานไม่เพียงพอกับการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีผลโดยตรงกับการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อและระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ระบบต่อมไร้ท่อและภูมิคุ้มกันของร่างกาย เป็นระบบที่ไวต่อการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมและจะส่งข้อมูลไปยังสมอง ถ้าหากการทำงานของสองระบบนี้อ่อนแอลงเนื่องจากขาดเอ็นไซม์ ร่างกายก็จะทำงานได้เชื่องช้าลง เพราะขาดพลังงาน ยิ่งเมื่ออายุของเรามากขึ้นการสร้างเอ็นไซม์ในทางเดินอาหารก็ยิ่งลดลง การขาดเอ็นไซม์ จะทำให้เกิดปัญหากับระบบการย่อยและการดูดซึม โดยจะไปรบกวนการทำงานของระบบประสาท ซิมพาเธติก ของร่างกาย

ระบบประสาทซิมพาเธติก  เป็นระบบประสาทอัตโนมัติ ที่ช่วยทำให้ร่างกายสามารถตอบสนองต่อภาวะคับขันที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดได้แก่ ในภาวะที่มีความเครียด เมื่อมีอันตราย หรือมีการบาดเจ็บเกิดขึ้นกับร่างกาย ระบบประสาท ซิมพาเธติก จะเร่งการหลั่งฮอร์โมนจากต่อมไร้ท่อที่อยู่ตามส่วนต่างๆของร่างกาย มีการหลั่งอะดรีนาลินเพิ่มขึ้น ทำให้ร่างกายตื่นตัว หลอดเลือดเกิดการหดตัว จะทำให้การไหลเวียนของเลือดช้าลง ทำให้อุณหภูมิของร่างกายเพิ่มขึ้น ดังนั้น ร่างกายจึงตอบสนองโดยมีเหงื่อออกมากขึ้น เพื่อช่วยลดอุณหภูมิของร่างกาย ระบบต่างๆของร่างกายจะทำงานร่วมกันเพื่อให้ร่างกายสามารถหลบหนี หรือต่อสู้กับอันตรายที่เกิดขึ้นได้ นับว่าเป็นการตอบสนองที่ต้องใช้พลังงานมาก

1501 Connections of the Sympathetic Nervous System
By OpenStax College [CC BY 3.0], via Wikimedia Commons

ดังนั้นจึงพบว่า เมื่อเหตุการณ์คับขันต่างๆผ่านไปแล้ว อวัยวะต่างๆ เช่น หัวใจ ปอด และระบบย่อยอาหารจะทำงานช้าลง
ระบบต่อมไร้ท่อคือ ระบบการทำงานของต่อมไร้ท่อที่อยู่ตามส่วนต่างๆของร่างกาย ต่อมไร้ท่อเป็นกลุ่มเนื้อเยี่อ ที่ทำหน้าที่หลั่งสารที่เรียกว่า ฮอร์โมน โดยจะไปออกฤทธิ์ที่อวัยวะเป้าหมายที่ถูกขนส่งไปกับกระแสโลหิต จึงเป็นที่มาของคำว่า ต่อมไร้ท่อ

ต่อมไร้ท่อแต่ละชนิด จะสร้างฮอร์โมนที่มีหน้าที่จำเพาะแตกต่างกันไป ต่อมเหล่านี้ จะทำงานแบบพึ่งพากันอย่างเป็นระบบ เพื่อรักษาระดับฮอร์โมนต่างๆของร่างกายให้เป็นปกติ มีความสำคัญต่อการควบคุมการทำงานทั้งหมดของร่างกาย  มีผู้ป่วยหลายท่าน มีปัญหาการอ่อนล้าและรู้สึกไม่สบาย หลังจากสัมภาษณ์และซักประวัติการรักษาโดยละเอียดแล้ว ได้มีการแนะนำการรักษาด้วยเอ็นไซม์ให้กับเขาเหล่านั้น เอ็นไซม์จะช่วยฟื้นฟูเนื้อเยื่อและอวัยวะต่างๆ ให้กลับมาทำงานได้ดีขึ้น ทำให้ร่างกายแข็งแรง สดชื่น และมีความสมดุลย์ หลังจากการรักษาผ่านไปไม่กี่สัปดาห์ เมื่อมีการตั้งคำถามว่า“ท่านรู้สึกดีไหม?” ถ้าเขาตอบว่า “ดี” นั้นเป็นผลมาจากการทำงานของเอ็นไซม์นั่นเอง และเมื่อถึงจุดนี้ น่าจะแนะนำให้เขาลดการกินผลิตภัณท์เสริมอาหารต่างๆ ที่เขากินอยู่ประจำเป็นเวลานาน ตราบเท่าที่เขายังสุขภาพดี

โรคนอนไม่หลับ

การวิจัยทางวิทยาศาสตร์พบว่า ผู้ที่มีปัญหานอนไม่พอ หรือนอนไม่หลับนั้น จะมีอาการบางอย่างแตกต่างจากคนที่มีการนอนเป็นปกติ อาการเหล่านั้นไดัแก่ มีอุณหภูมิในลำไส้ตรง ( rectal ) สูงขึ้น ความต้านทานที่ผิวหนังสูงขึ้น อัตราการหดตัวของหลอดเลือดเพิ่มขึ้น และมีการเคลื่อนไหวของร่างกายเพิ่มขึ้น ลักษณะอาการเหล่านี้อาจมีผลดี และเป็นประโยชน์ต่อการแข่งขันในที่ทำงาน แต่กลับมีผลเสียต่อการนอนเป็นอย่างมาก

โรคนอนไม่หลับ อาจมีสาเหตุมาจากทางด้านร่างกาย หรือจิตใจหรือทั้งสองอย่างรวมกัน ในขณะที่นอนหลับนั้น อัตราการเกิดเมตาบอลิซึมในร่างกายลดลงจากในขณะตื่นประมาณ 10 เปอร์เซนต์ เนื่องจากในขณะที่กล้ามเนื้อและระบบประสาท ซิมพาเธติก มีการทำงานลดลง ยิ่งกล้ามเนื้อมีการผ่อนคลายน้อยลงเท่าใด อัตราการเผาผลาญก็จะมากขึ้นเท่านั้น อารมณ์เครียดต่างๆ จะทำให้กล้ามเนื้อเกิดความตึงเครียดเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการเผาผลาญที่เพิ่มขึ้นด้วย ปัญหาส่วนบุคคลร่วมกับความเครียดทางจิตใจ หรือความวิตกกังวลต่างๆ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อร่างกายแบบโดมิโน ยิ่งนอนได้น้อยร่างกายก็จะยิ่งเจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น

โรคนอนไม่หลับ ไม่ได้มีผลเสียที่กระทบแต่เฉพาะกับการดำรงชีวิตและความสามรถในการทำงานเท่านั้น แต่ยังมีผล กระทบต่อความสามารถในการซ่อมแซมร่างกาย และระดับพลังงานของร่างกายด้วย

โรคนอนไม่หลับ ที่มีสาเหตุมาจากทางด้านกายภาพบางอย่าง สามารถแก้ไขได้ ด้วยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการกินและการนอน สารคาเฟอีนที่มีอยู่ในเครื่องดื่มชา กาแฟ และน้ำโคล่า จะเพิ่มการเผาผลาญทำให้นอนหลับยาก น้ำตาลก็ให้ผลต่อร่างกายเช่นเดียวกับคาเฟอีน บางครั้งหมอนหรือที่นอนที่อ่อนนุ่มหรือแข็งขึ้น ก็ช่วยให้พักผ่อนได้มากขึ้นในขณะนอนหลับ การหลีกเลี่ยงอาหารมื้อหนักก่อนเวลานอน ก็ช่วยลดอาการนอนไม่หลับได้

ในกรณีของคนที่มี อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อเรื้อรัง (fibromyalgia) อาจประสบกับความผิดปกติในการนอนที่เรียกว่า alpha-delta sleep anomaly นับว่าเป็นอาการที่มีคลื่นสมองแอลฟ่าเข้ามาแทรก ขณะที่ผู้ป่วย fibromyalgia กำลังหลับสนิทหรือหลับลึก (deep sleep) ทำให้ตื่นในระหว่างที่หลับลึกและรบกวนคลื่นสมองเดลต้าที่ถูกสร้างขึ้นในขณะหลับลึก นอกจากทำให้ตื่นไม่สดชื่นแล้ว ร่างกายยังสูญเสียกระบวนการซ่อมแซมตัวเอง การหลั่งสารเคมีการสร้างและการใช้ฮอร์โมนของการเจริญเติบโต ( growth hormone ) จะเกิดขึ้นในช่วงที่ร่างกายเข้าสู่การหลับลึกและสร้างคลื่นสมองเดลต้าออกมา

เมื่อท่านปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินและการนอนเหล่านี้แล้ว แต่ยังไม่ได้ผล เราขอแนะนำการรักษาด้วยการใช้เอ็นไซม์ เพื่อที่จะใช้เสริมการทำงานของระบบประสาท โดยเน้นที่ระบบประสาท ซิมพาเธติก จงจำไว้ว่าการทำงานของระบบประสาท ซิมพาเธติก จะทำให้ร่างกายมีพลังงานเพิ่มขึ้นจากการเร่งการเผาผลาญ แต่ก็จะทำให้ร่างกายพักผ่อนได้น้อยลง ทำให้ร่างกายเสียสมดุลย์ระหว่างการหลับและการตื่น โรคนอนไม่หลับ เป็นการเสียสมดุลย์ที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อร่างกาย เมื่อไม่สามารถนอนได้อย่างเพียงพอ ร่างกายก็ไม่สามารถซ่อมแซมตัวเองได้ การขาดเอ็นไซม์เมื่ออายุมากขึ้น มักเป็นสาเหตุหนึ่งของการนอนหลับยากในผู้สูงอายุ

กลุ่มอาการอ่อนล้าเรื้อรัง

กลุ่มอาการอ่อนล้าเรื้อรัง ( chronic fatigue syndrome ) มีลักษณะคล้ายกับโรคอื่นๆ เช่น การติดเชื้อไวรัส Eppstein-Bar แบบเรื้อรัง chronic mononucleosis และ Icelandic disease เป็นต้น กลุ่มอาการอ่อนล้าเรื้อรัง มีลักษณะ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ปวดแน่นในท้อง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ และขาดสมาธิ มีผู้คนจำนวนหลายล้านคนที่ทุกข์ทรมานกับอาการนี้ มีรายงานบ่งชี้ว่า มีคนมากกว่า 5 ล้านคนในสหรัฐอเมริกา ที่มีอาการอ่อนล้าเรื้อรัง อาการอ่อนล้าเรื้อรังนี้ ไม่สามารถวินิจฉัยได้โดยการตรวจแบบปกติเหมือนการตรวจปัสสาวะหรือการตรวจเลือด บุคคลากรทางการแพทย์บางคนยังไม่ยอมรับว่า อาการเหล่านี้เป็นความผิดปกติอย่างหนึ่ง แต่ก็ไม่สามารถอธิบายสาเหตุของการอ่อนล้า หรือความเจ็บป่วยเหล่านี้ได้ มีหนังสือจำนวนนับไม่ถ้วนที่เขียนถึงอาการอ่อนล้าแบบเรื้อรังนี้ แต่ไม่มีเล่มใดที่จะแนะนำการปฏิบัติตนเช่น การงดอาหารที่เป็นอันตราย การใช้ส่วนผสมของสมุนไพร การให้สารอาหารที่จำเป็น และ วิธีการส่งเสริมอื่นๆ

กรณีศึกษา
กลุ่มอาการอ่อนล้าเรื้อรัง ค่อนข้างมีลักษณะอาการพิเศษเฉพาะตัวในผู้ป่วยแต่ละรายที่มีการบันทึกไว้ มีผู้ป่วยรายหนึ่งมาด้วยอาการอ่อนล้าเรื้อรังและนี่เป็นคำพูดของเธอที่เล่าเกี่ยวกับอาการอ่อนล้าเรื้อรังให้ผมฟัง

“ฉันรู้สึกไม่ค่อยสบายมาเป็นเวลา 8 เดือนแล้ว ทั้งที่ก่อนหน้านี้ประมาณ 1 ปี ฉันรู้สึกเป็นปกติดี แต่ตอนนี้ฉันไม่สามารถทำงานที่ทำอยู่ประจำได้เลย ฉันรู้สึกเคืองตาและปวดแสบปวดร้อนในตา และเจ็บปวดเวลาที่มีน้ำตาออกมา ฉันมึนศรีษะจนไม่สามารถคิดหรือทำงานได้ ในลำคอของฉันบวมจนบางครั้งรู้สึกเหมือนคอตีบ ฉันมีอาการเจ็บคอบ่อยๆ ต่อมน้ำเหลืองที่คอและที่ใต้รักแร้มีอาการบวม เวลาที่เหงื่อออกบริเวณรักแร้ก็จะปวด เวลาอากาศร้อนแล้วเกาจะเกิดลมพิษ ฉันมีอาการเป็นไข้ได้ง่าย มีอาการปวดตามข้อและกล้ามเนื้อ อาจปวดรุนแรงในบางครั้ง ฉันมีปัญหานอนหลับยาก และอ่อนเพลียเวลาที่ตื่น เจ็บหน้าอกด้านขวาเวลาลุกจากที่นอน รู้สึกเหมือนมันแน่นหรือบวมอยู่ในช่องอก ฉันมีอาการตับหรือถุงน้ำดีบวม จนบางครั้งคุณอาจสังเกตเห็นได้บริเวณใต้ซี่โครง ฉันปวดเท้าอยู่เกือบตลอดเวลาและชาที่มือ ฉันรู้สึกหนาวสั่นได้ง่าย มีอาการท้องผูกแล้วตามด้วยท้องเสีย หายใจไม่เต็มปอด มีการติดเชื้อที่ไตและกระเพาะปัสสาวะแบบเป็นๆหายๆ ฉันประสพกับอาการ PMS และเป็นตะคริว ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงที่มีอาการกำเริบหรือไม่ ฉันมีอาการคลื่นไส้ ซึมเศร้า และมีเสียงดังในหู ”

เธอรู้สึกกลัวและท้อแท้ใจ จากการทดสอบหลายๆอย่าง แสดงให้เห็นว่า เธออยู่ในกลุ่มอาการอ่อนล้าเรื้อรัง อย่างไรก็ตาม เธอพยายามรักษาด้วยการบำบัดทุกวิธี แต่ก็ไม่ได้ผล

ไม่มีวิธีใดทำให้เธอหายจากอาการนี้ได้
ผู้ป่วยรายนี้ อยู่ในกลุ่มอาการอ่อนล้าเรื้อรังใช่หรือไม่? ยังไม่มีการวินิจฉัยโดยแพทย์ แต่เธอมีอาการเหล่านี้จริงๆ ถ้าเธอรับประทานเอ็นไซม์ อาการของเธอจะดีขึ้นอย่างทันที แน่ใจเป็นอย่างยิ่งว่า ในระยะยาวสุขภาพของเธอจะต้องดีขึ้น

แล้วเธอจะรู้สึกอย่างไรว่ามันดีขึ้น?
เธอจะรู้สึกถึงความแตกต่างภายในเวลาไม่กี่วัน โดยเฉพาะอาการคลื่นไส้จะน้อยลง เมื่อเธอได้รับประทานเอ็นไซม์โปรตีเอส วันละ 4 ครั้งพร้อมกับอาหาร และในระหว่างมื้ออาหารด้วย ในช่วง 21 วันแรก เธอรู้สึกดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในเรื่องของอาการปวดศรีษะ คลื่นไส้ อาเจียน เจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อ และปวดข้อ อีก 21 วันถัดมา เธอสามารถทำงานได้เพิ่มขึ้นอีกหลายชั่วโมงต่อสัปดาห์ และอาการท้องผูกสลับกับท้องเสียก็เริ่มเข้าสู่สมดุลย์ อาการเจ็บหน้าอกหายไป ต่อมน้ำเหลืองที่เคยบวมจนสังเกตเห็นได้ก็เริ่มยุบลง และภายในเวลา 9 สัปดาห์ เธอก็สามารถกลับไปทำงานเต็มเวลาได้อีกครั้ง

จนถึงทุกวันนี้ เธอสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข เธอไม่สามารถรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ ( อาหารขยะ ) และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ แต่เธอก็ควบคุมชีวิตความเป็นอยู่ได้ดีขึ้น ปัจจุบันเธอยังคงรับ ประทานเอ็นไซม์อยู่และมีชีวิตเป็นปกติสุขดี

เมื่อวันที่ 17 กรกฏาคม ค.ศ. 1997 Dr. Robert Suhadolnik และทีมผู้ร่วมวิจัยจากโรงเรียนแพทย์แห่งมหาวิทยาลัย เทมเปิล ในเมืองฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐ อเมริกา ได้รายการพบเอ็นไซม์ชนิดใหม่ ในผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มอาการอ่อนล้าเรื้อรัง เอ็นไซม์ชนิดนี้คือ เอนไซม์ RNase L ซึ่งอยู่ในระบบเอนไซม์ 2-5A synthetase/RNase L และมีความสำคัญในการต่อต้านเชื้อไวรัส เอ็นไซม์ RNase L ที่พบในผู้ป่วยกลุ่มอาการอ่อนล้าเรื้อรัง มีน้ำหนักโมเลกุลต่ำกว่าเอ็นไซม์ RNase L ที่พบในคนปกติ ( 37 kDa ในผู้ป่วยอ่อนล้าเรื้อรัง และ 80 kDa ในคนปกติ ) ผู้ป่วยที่อ่อนล้าแบบเรื้อรัง เมื่อติดเชื้อไวรัสจะไม่สามารถต่อต้านเชื้อไวรัส และไม่สามารถรักษาระดับพลังงานในเซลล์ให้เพียงพอได้

Dr. Suhadolnik กล่าวว่าการทำงานของเอ็นไซม์ในระบบ 2-5 A synthetase/RNase L นี้อาจควบคุมกระบวนการต้านเชื้อไวรัส และการสร้างพลังงานในเซลล์ เอ็นไซม์ RNase L ในผู้ป่วยกลุ่มอาการอ่อนล้าเรื้อรัง อาจทำหน้าที่ได้ไม่ดีเท่ากับ RNase L ที่พบในคนปกติ โดยอาจทำให้อธิบายได้ว่า ทำไมผู้ป่วยกลุ่มอาการเรื้อรัง จึงต้องใช้เวลานานมากในการสร้างพลังงานให้เพียงพอกับการเจริญเติบโตของเซลล์

เช่นเดียวกับผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน เมื่อเขาได้รับประทานเอ็นไซม์ที่มีโปรตีเอสสูง วิธีนี้จะช่วยให้ระบบต่อมไร้ท่อและระบบประสาท ได้รับอาหารและได้รับการเสริมสร้างให้แข็งแรงขึ้น และยังช่วยขับพิษออกจากร่างกายด้วย สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ด้วยการรับประทานเอ็นไซม์ ระบบต่อมไร้ท่อที่ควบคุมการสร้างฮอร์โมน ระบบประสาท และระบบภูมิคุ้มกัน จะต้องได้รับการเสริมสร้างให้ดีขึ้น เพราะระบบต่างๆเหล่านี้ ทำหน้าที่ได้โดยการทำงานของเอ็นไซม์ ไม่มีวิธีใดดีไปกว่าการรับประทานเอ็นไซม์เสริม เอ็นไซม์โปรตีเอสมีประสิทธิภาพกว้างขวางในการย่อยโปรตีน จึงมีประโยชน์ในยามที่ร่างกายขาดเอ็นไซม์

จะเพิ่มพลังให้สมองได้อย่างไร
อาการอ่อนล้ามีหลายระดับ อาจมีระดับเพียงเล็กน้อย ไปจนถึงระดับที่ไม่สามารถทำอะไรได้เลย การอ่อนล้านี้บ่อยครั้งที่พบว่า มีการอ่อนล้าของสมองด้วยในกรณีที่ผู้ป่วยขาดพลังงาน บางครั้งผู้ป่วยก็เหนื่อยเกินไป จนจำไม่ได้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ในขณะหนึ่ง พวกเขาบอกว่า มันเหมือนกับสมองของพวกเขาไม่ทำงาน การทำงานของสมองของผู้ที่มีสุขภาพดีนั้น ต้องการระบบประสาทที่แข็งแรง ระบบต่อมไร้ท่อที่ทรงพลัง และการหล่อเลี้ยงด้วยออกซิเจนและกลูโคสที่ต่อเนื่องสม่ำเสมอ ความต้องการเหล่านี้ ขึ้นอยู่กับการทำงานที่เหมาะสมของระบบย่อยอาหาร เมื่อคนเราอายุมากขึ้น ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนและสารเคมีได้น้อยลง จะส่งผลวิกฤติต่อความจำ

ในขณะที่สูญเสียความทรงจำในผู้สูงอายุ อาจเป็นผลมาจากสาเหตุอื่นๆ การเสริมด้วยเอ็นไซม์ที่เหมาะสม จะช่วยเสริมสร้างและทำให้อวัยวะต่างๆ กลับคืนมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น การออกกำลังกายที่ไม่เพียงพอ และการรักษาแบบผสมผสานที่ไม่เหมาะสม เป็นสาเหตุของความจำเสื่อมในประชากรวัยสูงอายุ อย่างไรก็ตาม การรักษาความสมดุลย์ของเอ็นไซม์ในร่างกาย สามารถทำให้การผลิตสารที่ช่วยในการจำกลับคืนมาใหม่ได้อย่างน่าประทับใจ โรคความจำเสื่อมอาจลดอาการลงหรือหายได้ แต่สิ่งสำคัญคือการป้องกันโรคความจำเสื่อมย่อมดีกว่าการแก้ไข

เอ็นไซม์ช่วยซ่อมแซมและทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง
เอ็นไซม์อาจจะเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้ชีวิตสดใส มีชีวิตชีวา แต่ก็เป็นสิ่งที่ถูกมองข้ามมากที่สุดเช่นกัน ความจริงเอ็นไซม์อาจเป็นตัวชี้วัดความแตกต่างระหว่างนักกีฬาโอลิมปิคที่อ่อนเยาว์ และกระฉับกระเฉงกับคนหนุ่มสาวที่เกียจคร้าน ต้องขอบคุณเอ็นไซม์ที่เป็นตัวทำให้เกิดการสร้างกล้ามเนื้อของร่างกาย เพราะถ้าเอ็นไซม์ต่างๆ ในเซลล์กล้ามเนื้อไม่ทำงานแล้ว ก็จะไม่มีการเจริญเติบโต ไม่มีการสร้างกล้ามเนื้อใหม่เกิดขึ้น ไม่มีปฏิกิริยาตอบสนองของกล้ามเนื้อจากการกระตุ้นของระบบประสาท เอ็นไซม์เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาการเปลี่ยนอาหารให้กลายเป็นพลังงาน ที่จะใช้ในการเคลื่อนไหวและการเจริญของกล้ามเนื้อ

การหายใจและการออกกำลังกายที่เหมาะสม เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะ ออกซิเจนเป็นแหล่งกำเนิดของการสร้างเอ็นไซม์
การออกกำลังกายแบบธรรมชาติอย่างเช่น การเดิน มีส่วนช่วยในการผลิตเอ็นไซม์ในกระบวนการ เมตาบอลิซึม ถ้าท่านออกกำลังกายไม่สม่ำเสมอ อาจมีภาวะขาดเอ็นไซม์เกิดขึ้นกับท่านได้

การสร้างเอ็นไซม์จะลดน้อยลง เมื่อระบบกล้ามเนื้อไม่ถูกใช้งาน แต่นั่นไม่ได้หมายถึง การออกกำลังกายแบบหักโหมหรือการยกน้ำหนัก ผู้ที่ชอบการออกกำลังกายที่เป็นธรรมชาติ จะเป็นผลดีกับร่างกายของเรามากกว่าเช่น การเดิน การว่ายน้ำ หรือการปั่นจักรยาน
ในปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ให้ความสนใจในเรื่องอาหารการกินหรือโภชนาการเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก แต่ก็ยังมีเพียงส่วนน้อยมากที่ค้นพบว่า ปัจจัยสำคัญที่สุดในอาหารที่ทำให้เกิดความแข็งแรง และความกระปรี้กระเปร่า มีชีวิตชีวา ก็คือเอ็นไซม์ เราต่างเป็นเจ้าของชีวิตของตัวเอง มีลมหายใจที่บำบัดได้ทุกโรค เราแต่ละคน มีบ่อน้ำพุแห่งความอ่อนเยาว์อยู่ในตัว เพียงเปิดให้มันทำงานอยู่ตลอดเวลา ให้สิ่งที่มันต้องการ เพื่อนำไปใช้เร่งการสร้างเอ็นไซม์ในกระบวนการเมตาบอลิซึม ให้เพิ่มมากขึ้น
เซลล์กล้ามเนื้อต้องการสารอาหารมากถึง 45 ชนิด สารอาหารเหล่านี้ถูกขนส่งไปยังเซลล์กล้ามเนื้อได้โดยเอ็นไซม์ หากท่านต้องการสร้างกล้ามเนื้อให้แก่ร่างกาย หรือการเข้าโปรแกรมการออกกำลังกายโดยวิธีธรรมชาติ ท่านจำเป็นที่จะต้องได้รับสารอาหารที่จำเป็นทั้ง 45 ชนิดนี้เพิ่มขึ้น หากไม่ได้สารอาหารที่จะไปช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับกล้ามเนื้อ ย่อมเกิดผลเสียติดตามมา หลายคนที่มีความตั้งใจที่จะสร้างความแข็งแรงให้ร่างกาย แต่จะไม่ได้รับประโยชน์อันใดเลย นอกจากความอ่อนล้าเพิ่มมากขึ้น นี่เป็นข้อบ่งชี้ว่าร่างกายท่านขาดเอ็นไซม์ เอ็นไซม์มีอยู่ในสิ่งมีชีวิตทุกชนิดตามธรรมชาติ หากปราศจากเอ็นไซม์ ก็จะปราศจากชีวิต

ราจึงต้องหาวิธีทำให้ร่างกายของเราสดชื่นอยู่ตลอดเวลา
เรามีข้อพิสูจน์เพียงพอที่จะกล่าวว่า เราสูญเสียเอ็นไซม์ไปกับเหงื่อ ได้มีการวิเคราะห์เลือดของนักกีฬาหลายคน พบว่า นักกีฬาที่ออกกำลังกายมากเกินไปอยู่เสมอ มีแนวโน้มที่จะมีเลือดที่แย่ที่สุด การออกกำลังกายจะช่วยขับของเสียออกจากร่างกาย นั่นหมายถึง การบริหารในปริมาณที่เหมาะสมต่อการมีสุขภาพดี จึงจะเอื้อประโยชน์ต่อร่างกาย การออกกำลังกายมากเกินไป จะเป็นการทำลายร่างกาย รูปแบบการออกกำลังกายที่ช่วยขับพิษออกจากร่างกาย ไดัแก่ การเดินเร็วหลายๆครั้งต่อสัปดาห์ หรือการออกกำลังด้วยเครื่องบริหารร่างกายที่ใช้โปรแกรมการบริหารหัวใจและหลอดเลือด สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง จะช่วยเร่งการสร้างเอ็นไซม์ในกระบวนการเมตาบอลิซึมของร่างกาย จงระมัดระวังในการรักษาสมดุลย์ของชีวิตในทุกๆสถานการณ์

เอ็นไซม์ถ่ายทอดพลังงาน ที่ได้จากการย่อยอาหารที่ดีและสมบูรณ์แล้วไปยังกล้ามเนื้อ ประสาท กระดูก และต่อมต่างๆ ช่วยลดอาการบวมและอาการอักเสบ “ยามหัศจรรย์จากธรรมชาติ” นี้ช่วยในการเสริมสร้างกล้ามเนื้อ และเพิ่มการเคลื่อนไหวและการประสานงานของกล้ามเนื้อ ช่วยให้ความจำดี มีความสุขกาย สบายใจ ช่วยป้องกันเราจากอันตรายที่เกิดจากสิ่งแวดล้อมเป็นพิษและสารพิษอื่นๆที่เราได้รับอยู่เป็นประจำ

หากปราศจากเอ็นไซม์ เราคงไม่สามารถขับคาร์บอนไดออกไซด์ ออกมากับลมหายใจได้ สิ่งใดก็ตามที่ขัดขวางหรือทำลายการทำหน้าที่ของชีวิต อาจก่อให้เกิดผลเสียหายร้ายแรง จะเป็นการทรมานขนาดไหน หากเราไม่สามารถสร้างพลังงาน หรือเสริมสร้างและซ่อมแซมเนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อของเราได้ ร่างกายของเรา คงถูกทำให้เน่าเปื่อยและเสื่อมสลายไป โรคต่างๆก็จะจู่โจมเราถ้าเราขาดเอ็นไซม์ เป็นความจริงที่รู้กันดีว่า ถ้าเราออกกำลัง หรือทำให้ร่างกายได้ออกแรงให้มากไปกว่าพลังงานสะสมที่เรามีอยู่ ก็จะเริ่มมีการเผาผลาญ เพื่อสลายสิ่งที่ร่างกายสะสมมาเป็นพลังงานเพิ่มขึ้น รวมถึงการสลายเนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อ และนี่จะยิ่งทำให้เราอยู่ในสภาวะที่แย่กว่าเดิม ก่อนที่เราจะเริ่มออกกำลังกายเสียอีก

หากท่านมีเป้าหมายในการเพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ ท่านจงระมัดระวังเครื่องดื่มที่มีโปรตีนสูง และขนมที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง เพราะอาหารเหล่านี้มีปริมาณน้ำตาลมาก เมื่อถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายไปพรัอมกับโปรตีน จะทำให้เลือดไหลเวียนลำบาก เพราะมีโปรตีนในกระแสเลือดมากเกินไป ทำให้การขนส่งออกซิเจนไปยังเนื้อเยื่อต่างๆลดลง การรักษาทำได้โดยการให้เอ็นไซม์ โดยมันจะช่วยในการย่อยอาหาร และเครื่องดื่มที่มีคาร์โบไฮเดรตและโปรตีนสูงเหล่านี้ การรับประทานเอ็นไซม์โปรตีเอสปริมาณสูงระหว่างมื้ออาหาร จะช่วยสลายโปรตีนที่มากเกินในกระแสเลือด
มีเพียง 20 เปอร์เซนต์ของผู้ป่วยในกลุ่มอาการอ่อนล้าเรื้อรัง ที่มีอาการเริ่มต้นที่เห็นได้ชัดเจนคือ อาการวูบวาบ( flare ) ในขณะที่มีอาการ flare นี้ อาการที่เคยเป็นอยู่จะกำเริบมากขึ้น และมีอาการใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ผู้ป่วยกลุ่มอาการปวดเมื่อยกลัามเนื้อ( fibromyalgia syndrome )

เนื้อเยื่อพังผืด ( Myofascia )
เนื้อเยื่อพังผืดคือ เนื้อเยื่อคล้ายแผ่นเคลือบบางเกือบใส ที่ห่อหุ้มรอบเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อนี้ทำหน้าที่ยึดส่วนต่างๆของร่างกายเข้าไว้ด้วยกัน ทำเป็นรูปร่าง และช่วยค้ำจุนกล้ามเนื้อส่วนต่างๆของร่างกาย ท่านสามารถมองเห็นเนื้อเยื่อนี้ได้เวลาที่หั่นเนื้อไก่ มันมีลักษณะบาง เหนียว คล้ายกับแผ่นเคลือบบางๆ ที่ห่อหุ้มกล้ามเนื้อไว้ เนื้อเยื่อนี้จะหุ้มอยู่รอบเส้นใยกล้ามเนื้อ มัดของเส้นใย และมัดของกล้ามเนื้อแต่ละมัด แล้วมารวมกันเป็นเอ็นและพังผืด

เนื้อเยื่อพังผืดนี้ เริ่มมีความสำคัญมากขึ้น ในผู้ป่วยกลุ่มอาการปวดเมื่อยกลัามเนื้อ( fibromyalgia syndrome ) กลุ่มอาการปวดเอ็นกล้ามเนื้อ (myofascial pain syndrome ) โดยเนื้อเยื่อจะมีลักษณะตึงแน่น และหนาตัวขึ้น ถ้าพบลักษณะสองอย่างนี้ จะทำให้ความรุนแรงของโรคเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า เมื่อเนื้อเยื่อพังผืดหนาขึ้น และสูญเสียความยืดหยุ่น จะทำให้เกิดความเสียหายกับสารสื่อประสาท( neurotransmitter ) และทำให้การติดต่อสื่อสารระหว่างร่างกายกับจิตใจถูกทำลาย

ดังนั้น เนื้อเยื่อพังผืดนี้ อาจเป็นหัวใจสำคัญของความผิดปกติของผู้ป่วยในกลุ่มอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อในเนื้อเยื่อพังผืด มีสารเรียกว่า สารรองพื้น (ground substance) อยู่ สารรองพื้นนี้อาจอยู่ในสถานะเป็นของแข็ง หรือกึ่งแข็งกึ่งเหลว และเป็นของเหลวก็ได้ขึ้นกับพยาธิสภาพ เมื่อสารรองพื้นนี้เปลี่ยนจากสถานะของเหลวไปเป็นเจล ที่มีลักษณะกึ่งแข็งกึ่งเหลว จะทำให้เนื้อเยื่อพังผืดตึงแน่น และเป็นการยากที่จะทำให้สารรองพื้นนี้เปลี่ยนกลับมาเป็นของเหลวอีกครั้ง

จุดเริ่มต้นของอาการที่เกี่ยวกับเนื้อเยื่อพังผืด
จุดเริ่มต้นของอาการที่เกี่ยวกับเนื้อเยื่อพังผืดในกล้ามเนื้อ คือ อาการปวดเป็นแถบตามเส้นสายของร่างกายอย่างรุนแรง หรืออาจรู้สึกปวดเหมือนเป็นก้อนอยู่ตรงบริเวณเยื่อพังผืดที่แข็ง อาการปวดนี้ มักจะรู้สึกได้บริเวณแขนและขา ท่านจะรู้สึกถึงอาการปวดได้เวลายืดกล้ามเนื้อออกไปประมาณ 2/3 ของปกติ บางครั้งกล้ามเนื้อของท่านอาจตึงแน่นมาก จนรู้สึกปวดแบบเป็นก้อนหรือเป็นแถบ แต่จะรู้สึกว่ากล้ามเนื้อของเราแข็งเหมือนคอนกรีต อาการเริ่มต้นนี้ อาจเกิดขึ้นกับเนื้อเยื่อพังผืดในกล้ามเนื้อผิวหนัง เอ็นรอบๆกระดูก และเนื้อเยื่ออื่นๆ

การทำศัลยกรรมผ่าตัด เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดพังผืดขึ้นได้ มักเกิดขึ้นในกรณีการผ่าตัดในช่องท้อง โดยอาจจะไม่รู้สึกถึงอาการเริ่มต้นนี้เลย เพราะมันค่อนข้างปกติ อาการเฉพาะแต่ละอย่างของอาการเริ่มต้นที่เกิดขึ้นกับร่างกาย เหมือนกับอาการปวดหรืออาการอื่นๆ ที่บันทึกไว้อย่างละเอียดในคู่มือการเริ่มต้น

หลังจากได้รับการบอกเล่าเป็นเวลาหลายปี โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญว่า ไม่มีลักษณะการปวดที่อธิบายถึง แต่ในคู่มืออาการเริ่มต้นของการปวดเอ็นกล้ามเนื้อ (Myofascial Pain and Dysfunction : The Trigger Point Manual Vol. I & II ) ที่เขียนโดยนายแพทย์ แทรเวลล์ และ นายแพทย์ เดวิท ซิมมอน คำอธิบายในหนังสือเล่มนี้ อาการปวดจำเพาะส่วนใหญ่ ที่เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ( fibromyalgia syndrome ) มาจากอาการเริ่มต้น จริงๆอาการเริ่มต้นเหล่านี้จะค่อยๆก่อตัวขึ้น จากการตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับร่างกายของเรามาตลอดชีวิต เช่น การใช้งานกล้ามเนื้อหนักเกินไป การเคลื่อนไหวที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บอยู่เรื่อยๆ แผลฟกช้ำดำเขียว ความตึงเครียด ปัญหาไขข้อและอื่นๆ ความเจ็บปวดจะไปกระตุ้นเส้นประสาทของกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดการตอบสนองโดยกล้ามเนื้อที่อยู่รอบๆ จะแข็งตึงขึ้น เพื่อเป็นการปกป้องบริเวณที่ได้รับความเจ็บปวด

กล้ามเนื้อที่อยู่ในสภาวะตึงเครียดอยู่นั้นกำลังทำงาน แม้ว่าคุณจะอยู่นิ่งๆไม่ได้ทำอะไรก็ตาม กล้ามเนื้อที่กำลังทำงานนั้น ต้องการอาหารและออกซิเจน และสร้างของเสียมากกว่ากลัามเนื้อที่อยู่ในขณะพัก ดังนั้น ถ้าเกิดความเครียดในกล้ามเนื้อ จะทำให้เนื้อเยื่อพังผืดขาดอาหารและออกซิเจน และมีของเสียที่เป็นพิษอยู่มาก นี่คือจุดเริ่มต้น (Trigger Point)

ดร. เจเน๊ต แทรเวลล์ เขียนอธิบายไว้ในอัตชีวประวัติของเธอในหนังสือ “ทำงานวันละ 24 ชั่วโมง (Office Hours Day and Night)” ว่า ทำไมอาการเวียนศรีษะ มีเสียงดังในหู เสียการทรงตัว และอาการอื่นๆ จึงมีสาเหตุมาจากจุดเริ่มต้นที่บริเวณกลุ่มของกล้ามเนื้อตรงบริเวณด้านข้างของคอ ที่เรียกว่า sternocleidomastoid (SCM) complex กล้ามเนื้อกลุ่มนี้ มีหน้าที่หลายอย่าง หนึ่งในหน้าที่เหล่านั้นคือ การทำให้ศรีษะตั้งตรง ตัวรับสัญญาณ (receptor) ที่อยู่ในกล้ามเนื้อ SCM complex นี้ จะถ่ายทอดสัญญาณประสาทไปยังสมอง เพื่อบอกให้รู้ถึงตำแหน่งของศรีษะและร่างกายในแต่ละเวลาและสถานที่ เมื่อเนื้อเยื่อพังผืดที่ขาดอาหารและออกซิเจน ที่เป็นอาการของจุดเริ่มต้น จะมีตัวรับสัญญาณที่ทำงานผิดปกติเหมือนมันกำลังโกหก เพราะสิ่งที่มันบอกไปยังสมอง ไม่ใช่สิ่งเดียวกับที่ตาเราบอก

เมื่ออาการของโรคเป็นมากขึ้น อาจทำให้ฝังใจผิดคิดว่า อาการปวดเอ็นกล้ามเนื้อ(myofascial pain syndrome) จะลุกลามมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป แต่อาการปวดเอ็นกล้ามเนื้อไม่ไช่โรคที่ลุกลาม ถ้ามีการรักษาที่เหมาะสม จะสามารถสลายและกำจัดอาการเริ่มแรกเหล่านี้ได้

กลุ่มอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ (fibromyalgia syndrome )
เป็นกลุ่มอาการที่เสียการควบคุมการทำงานของสารสื่อประสาททั่วร่างกาย (systemic neurotransmitter dysfunction ) ที่มีสาเหตุหลายอย่างมาจากทางด้านชีวเคมีและยังมีปัญหาอื่นด้วยเช่นกัน แต่เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบทั่วทั้งร่างกาย เช่น ปัญหาความผิดปกติในการนอนแบบแอลฟ่า-เดลต้า แต่กลุ่มอาการปวดเอ็นกล้ามเนื้อ (myofascial pain syndrome) เป็นสภาวะที่เกี่ยวกับกล้ามเนื้อและระบบประสาท กลุ่มอาการปวดเอ็นกล้ามเนื้อเกิดขึ้น เพราะการเสื่อมถอยของร่างกายในเชิงฟิสิกส์ไม่ใช่ในเชิงของชีวเคมี โดยธรรมชาติของอาการเริ่มต้น อาการบางอย่างอาจดูเหมือนว่า จะส่งผลกระทบทั่วทั้งร่างกาย แต่ที่จริงมันไม่ใช่เหตุการณ์ริเริ่มต่างๆเช่น การบาดเจ็บที่เกิดจากการเคลื่อนไหวบ่อยๆ บาดแผล และความเจ็บป่วย ทำให้เกิดของอาการเริ่มแรกและอาการต่อไปเป็นชั้นๆ เหมือนน้ำตกได้

กลุ่มอาการปวดเมื่อยและปวดเอ็นกล้ามเนื้อแบบซับซ้อน(FMS/MPS complex)
คนที่มีอาการปวดเมื่อยและปวดเอ็นกล้ามเนื้อแบบซับซ้อนนี้ ต้องเผชิญหน้ากับอาการของโรคทั้งสองกลุ่ม ปัจจุบันนักวิจัยเข้าใจดีว่า กลุ่มอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ(FMS) และกลุ่มอาการปวดเอ็นกล้ามเนื้อ(MPS) ไม่เพียงแต่เกิดขึ้นด้วยกัน แต่ยังเสริมซึ่งกันและกัน ดังนั้น การทำกายภาพบำบัดและการรักษาในรูปแบบต่างๆ จะต้องกระทำอย่างระมัดระวัง การรักษาผู้ป่วยทั้งสองอย่างนี้ จะสลับซับซ้อนมากขึ้นและได้ผลน้อยลงกว่าการที่ผู้ป่วยมีอาการเพียงอย่างหนึ่งอย่างใด

ในกลุ่มอาการปวดเมื่อยและปวดเอ็นกล้ามเนื้อ จะมีอาการปวดแบบเรื้อรัง พร้อมกับมีอาการอื่นๆที่แตกต่างกันอีกมากมาย อาการเริ่มแรกของกลุ่มอาการปวดเอ็นกล้ามเนื้อจะรุนแรงมากขึ้น ร่างกายต้องการเอ็นไซม์โปรตีเอสและไลเปสเพิ่มมากขึ้น การใช้เอ็นไซม์บำบัด จึงมีความจำเป็นที่ขาดไม่ได้ สำหรับการฟื้นฟูร่างกายเพื่อกลับสู่สภาพเดิม