เห็ดฟางไทย หนังสือ เพื่อนแท้เกษตรกรไทย
ของบริษัทไทยเซ็นทรัลเคมี จำกัด(มหาชน)
Wed Feb 15, 2012 12:35 pm
อดีต ปัจจุบันและอนาคตเห็ดฟางไทย
อานนท์ เอื้อตระกูล
ผู้เชี่ยวชาญเห็ด(อาวุโส) องค์การสหประชาชาติ ปี พ.ศ. 2524-2548
www.anonbiotec.com
————————-

มีใครสักกี่คนที่จะทราบว่า เห็ดฟาง แม้ว่าจะเป็นพืชชั้นต่ำ ที่ทำการเพาะโดยไม่ต้องอาศัยเทวดา เพราะไม่ต้องการแดด ฝนนั้น จะกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย โดยเราสามารถเพาะเห็ดได้มากที่สุดในโลก โดยมากถึงปีละ 450,000 ตัน แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ โดยแทบจะไม่เหลือเพื่อการส่งออกเลย ความสำเร็จดังกล่าว เป็นการพัฒนาองค์ความรู้ของเกษตรกรผู้ที่มีอาชีพนี้อย่างต่อเนื่อง โดยส่วนงานของทางราชการแทบจะไม่มีส่วนในการพัฒนาอย่างเป็นชิ้นเป็นอันเท่าที่ควรเลย ก็นับว่า เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่น่าจับตามอง และควรให้ความสนใจในเรื่องนี้พอสมควร เพราะยังมีศักยะที่สูง อันเนื่องจาก โอกาสที่จะทำการเพาะ ทำการผลิตเพื่อการส่งออกอีกมาก แน่นอนที่สุด ก่อนที่เราจะก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงนั้น ผู้เขียนอยากจะรวบรวมข้อมูลในความเป็นมาเกี่ยวกับเห้ดฟางจากอดีต ถึงปัจจุบัน เพื่อที่จะใช้เป็นฐานในการขับเคลื่อนหรือพัฒนาต่อยอดไปถึงอนาคตที่สดใสของธุรกิจนี้


จริงๆแล้ว เห็ดฟาง เป็นเห็ดที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ บนกองวัสดุหมักทั้งหลาย เช่น หญ้า ฟาง ต้นกล้วย ขี้เลื่อย ทะลายปาล์ม เมื่อวัสดุเหล่านี้เน่าและถูกย่อยสลาย ก็มักจะมีเห็ดชนิดนี้เกิดขึ้น ในอดีต ชาวจีนแถวบริเวณสะพานซังฮี้ ที่มีอาชีพกระเทาะเมล็ดบัวขายนั้น หลังจากที่ได้ทำการกระเทาะเอาเปลือกเมล็ดบัวออกแล้ว ก็จะเอาเปลือกเมล็ดบัวไปทิ้ง เมื่อเปลือกเมล็ดบัวเน่า ก็มักจะมีเห็ดเกิดขึ้นเอง เห็ดที่เกิดขึ้นเองตามกองเปลือกเมล็ดบัวเน่าเปื่อยนั้น มักนิยมเรียกชื่อตามวัสดุที่มันขึ้น สมัยนั้น จึงเรียกว่า เห็ดบัว ต่อมา ชาวจีนกลุ่มดังกล่าวเห็นว่า เห็ดบัวที่เกิดขึ้นนั้น เป็นอาหารที่ตลาดมีความต้องการมาก จึงพยายามหาทางที่จะทำให้มันเกิดขึ้นตามที่เราต้องการ จึงได้นำเอาเปลือกเมล็ดบัวมากองสลับกับฟางข้าว แล้วทำการรดน้ำด้วยน้ำซาวข้าว เพื่อทำให้เปลือกเมล็ดบัวและฟางข้าวเน่าสลายเร็วขึ้น ก็จะได้เห็ดบัวเกิดขึ้นค่อนข้างแน่นอนและเร็วกว่าปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ ยิ่งหากใช้เปลือกเมล็ดบัวเก่าที่เคยมีเห้ดบัวเกิดขึ้นมาแล้วเอามาใส่ด้วย ก็จะได้ผลผลิตที่แน่นอนขึ้น

จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2489 หลังจากที่ อาจารย์ก่าน ชลวิจารณ์ จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตร ที่ประเทศฟิลิปปินส์ โดยท่านได้ไปเรียนรู้ถึงวิธีการทำเชื้อและเพาะเห็ดกระดุมจากสถาบันนี้มา ท่านจึงได้นำเอาความรู้ที่ได้เรียนมา มาทดลองทำเชื้อเห็ดฟางบริสุทธิ์ในอาหารวุ้น แล้วเพาะเลี้ยงเชื้อจากอาหารวุ้นในปุ๋ยหมักที่ทำมาจากขี้ม้าผสมกับเปลือกเมล็ดบัวหมักได้ผล นับว่า ท่านเป็นคนแรกของโลก ที่สามารถทำการผลิตเชื้อเห็ดฟางบริสุทธิ์ได้สำเร็จ นอกจากนี้ ท่านก็ได้ดัดแปลงวิธีการเพาะเห็ดบัวจากชาวจีนแถวบริเวณสะพานซังฮี้ มาเป็นการใช้เฉพาะตอซังจากข้าว และเห็ดที่ออกจากการใช้ฟางข้าวอย่างเดียวนี้ เรียกว่า เห็ดฟาง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน วิธีการเพาะเห็ดฟาง ที่ อ.ก่านได้พัฒนาขึ้นนั้น เป็นการใช้ตอซังที่มัดรวมกันเป็นฟ่อนๆขนาดเท่า 1 โอบมือ ประมาณ 40-60 ฟ่อน นำมาแช่น้ำ 1-2 คืน แล้วนำไปวางเป็นกองบนพื้นดินหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ด้วยการวางให้ส่วนของตอเป็นแนวตรง หนาประมาณ 1 ฝ่ามือ ส่วนควรยาวก็พอเหมาะสม หรือประมาณ 3-4 ม. จากนั้น จึงทำการโรยเชื้อเห้ดฟางตรงหัวตอซัง จากนั้น ก็ใส่ตอซังเช่นเดียวกัน เพียงแต่หันหัวไปอีกด้านหนึ่ง ให้ส่วนของปลายฟางเกยทับกัน ระยะห่างระหว่างหัวตอซังประมาณ 50-60 ซม.แล้วก็โรยเชื้อเห็ดเช่นเดียวกัน เท่านี้เองก็ถือว่าได้ทำการเพาะเห็ดฟางชั้นที่หนึ่งเสร็จแล้ว ส่วนชั้นที่ 2,3 หรือ 4,5 นั้น ก็ทำเช่นเดียวกัน โดยชั้นต่อๆไป จะวางตอซังทับชั้นแรก

ในฤดูร้อนจะนิยมทำกัน 3 ชั้น ฤดูฝนหรือฤดูหนาวทำกัน 4 ถึง 5 ชั้น เพื่อให้เกิดความอบอุ่น แต่ต้องไม่ให้มันร้อนเกินไป เมื่อทำตามกำหนดชั้นที่ต้องการแล้ว ชั้นสุดท้ายให้โรยเชื้อเห็ดทั่วผิวหน้า ก่อนที่จะใช้ฟางเปียกคลุมให้หนาอีกประมาณ 3-5 ซม ก็ถือว่าเป็นการสิ้นสุดขบวนการทำกองเห็ดแล้ว การเพาะเห็ดฟางด้วยวิธีนี้ เป็นการใช้ฟางค่อนข้างมาก คือประมาณ 40-60 ฟ่อน ขนาดของกองค่อนข้างสูง จึงเรียกวิธีการเพาะนี้ว่า การเพาะเห็ดฟางแบบกองสูง หลังจากนั้น ประมาณวันที่ 5-6 จะมีการรดน้ำเพื่อกระตุ้นให้เห็ดเกิดดอก แล้วคลุมด้วยฟางแห้งหรือหญ้าคาหรือจากให้หนาๆ เพื่อไม่ให้แสงส่องเข้าไปถึงกองโดยตรง และต้องการไม่ให้ลมโกรก จากนั้นอีก 5-6 วันก็จะมีเห็ดฟางเกิดขึ้น โดยจะเก็บผลผลิตได้ประมาณ 1-2 เดือน หรือประมาณ 10-15 กก.ต่อกอง หลังจากได้ผลการทดลองเป็นที่น่าพอใจแล้ว อ.ก่าน ก็ได้ทำการเปิดอบรมการทำเชื้อและเพาะเห็ดให้แก่เจ้าหน้าที่กรมกสิกรรมและผู้สนใจ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2491 เป็นต้นมา จากนั้นมา ได้มีเกษตรกรที่ประกอบอาชีพการเพาะเห็ดฟางแบบกองสูงเกิดขึ้นหลายท้องที่ เช่น อำเภอภาชี จังหวัดอยุธยา อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร เขตหนองแขม แถววัดลาดปลาเค้า เขตบางเขน เป็นต้น และจากท้องที่เหล่านี้ เมื่อทำการปฎิบัติไประยะหนึ่ง เห็นว่า กรรมวิธีดังกล่าว ใช้ฟางและแรงงานค่อนข้างมาก จึงได้ทำการดัดแปลงให้ใช้ฟางน้อยลง โดยไม่จำเป็นต้องเป็นตอซัง ปลายฟางหรือฟางข้าวนวดก็ใช้ได้ เพียงแต่ ต้องทำแบบพิมพ์หรือไม้แบบขนาด กว้าง 25-30 ซม. สูง 25-30 ซม. ยาว 80-100 ซม. เวลาจะทำการเพาะ ก็เพียงเอาฟางแช่น้ำใส่เข้าไปในแบบพิมพ์เป็นชั้นๆแต่ละชั้นหนาประมาณ 1 ฝ่ามือ ใส่อาหารเสริมที่เป็นวัสดุย่อยง่าย สลายเร็ว เช่น ขี้ฝ้าย ไส้นุ่น ต้นกล้ายแห้งสับ หรือผักตบชวาสับ(สดหรือแห้งก็ได้) นำมาแช่น้ำก่อน แล้วใส่เข้าไปบริเวณขอบก่อนที่จะทำการโรยเชื้อเห็ดเข้าไป ทำเช่นเดียวกันประมาณ 3-4 ชั้น จะได้ความสูง 25-30 ซม. แล้วจึงถอดแบบพิมพ์ออก ทำเช่นเดียวกันหลายๆกอง โดยแต่ละกองวางแบบคู่ขนานตามยาว ห่างกันประมาณ 1 คืบ โดยปกตินิยมทำ 10-15 กอง วิธีการเพาะเช่นนี้ จะประหยัดฟางลงเหลือเพียง 1-2 ฟ่อนเท่านั้น(แบบกองสูงใช้ฟาง 40-60 ฟ่อน) เรียกวิธีการเพาะนี้ว่า การเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย นอกจากจะประหยัดทั้งวัสดุเพาะและแรงงานแล้ว ผลผลิตที่ได้ยังเร็วและแน่นอกว่า โดยแต่ละกองจะได้ผลผลิตประมาณ 1-2 กก. โดยใช้เวลาเพียง 9-15 วันเท่านั้น นอกจากนี้ ผลของการดัดแปลงด้วยวิธีนี้ เป็นผลให้มีเกษตรกรหลายท้องที่นำไปพัฒนา ดัดแปลงใช้วัสดุที่ไม่จำเป็นต้องเป็นฟาง เช่น เปลือกถั่วเขียว เปลือกมันสำปะหลัง ทะลายปาล์ม ก้อนเพาะเห็ดในถุงที่หมดอายุแล้ว สามารถนำเอามาเพาะเห็ดฟางอย่างได้ผลหรืออาจจะดีกว่าใช้ฟางเสียอีก


อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการพัฒนาวิธีการเพาะเห็ดฟาง เกษตรในแต่ละท้องที่ได้ทำการพัฒนาให้เหมาะสมเป็นไปตามความถนัดและวัตถุดิบที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นนั้นๆ โดยสามารถเพาะเห็ดฟางได้ตลอดทั้งปี จนกระทั่งในปี พ.ศ.2520 ประเทศไทยสามารถผลิตเห้ดฟางได้มากที่สุดในโลก โดยผลิตได้สูงถึง 60,000 ตันนั้น แต่กรรมวิธีดังกล่าวก็ยังมีข้อจำกัด ที่ไม่สามารถเพาะซ้ำที่เดิมได้ อันเนื่องจาก เป็นการเพาะบนพื้นดิน ที่จะมีการสะสมเชื้อโรคจากการเพาะก่อนหน้าในพื้นที่เดียวกัน ดังนั้น เกษตรกร จำเป็นจะต้องทำการเพาะบนพื้นที่ใหม่ที่ไม่เคยทำการเพาะเห็ดฟางติดต่อกันมาก่อน ด้วยเหตุนี้ จึงได้มีการพัฒนาวิธีการเพาะเห้ดฟางในโรงเรือนเกิดขึ้น เพื่อสามารถทำการเพาะซ้ำที่เดิมได้ติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง


ในปี พ.ศ. 2516 ผู้เขียนได้รับเชิญจากร้านไทยแลนด์ซักแห้ง ที่อยู่บริเวณสามแยกเกษตร ให้ไปเป็นที่ปรึกษาในการเพาะเห็ดฟางในโรงเรือน ที่ราษฎร์บูรณะ เพื่อส่งออกไปยังฮ่องกง โดยได้นำเอากรรมวิธีการเพาะเห็ดฟางในโรงเรือนของไต้หวันมาเป็นต้นแบบ ด้วยการนำเอาขี้ฝ้ายมาทำการหมักแบบอับอากาศ 2 วัน ทำการกลับกอง หมักทิ้งไว้อีก 1-2 วัน ก่อนที่จะผสมรำละเอียด นำเอาเข้าโรงเรือน เพื่อเลี้ยงเชื้อรา 1-2 วัน ก่อนที่จะทำการอบไอน้ำที่อุณหภูมิ 65-72 °ซ.นาน 8-12 ชม. ก่อนที่จะโรยเชื้อเห็ดฟางเข้าไปหลังจากที่อุณหภูมิลดลงตามปกติแล้ว เมื่อเส้นใยเจริญทั่ววัสดุเพาะแล้วในวันที่ 6-7 ทำการตัดใย จากนั้นวันที่ 9-12 ก็จะมีดอกเห็ดฟางเกิดขึ้นค่อนข้างมาก โรงเรือนขนาด 6 x 12 สูง 2.5 ม. ให้ผลผลิตสูงถึง 350-500 กก. สามารถเพาะได้ตลอดทั้งปี ซึ่งในปี พ.ศ. 2517 ผู้เขียนได้ทำการเปิดอบรมในการเพาะเห็ดฟางวิธีนี้ โดยเรียกว่า การเพาะเห็ดฟางในโรงเรือนแบบ อานนท์ 2517 ซึ่งเป็นวิธีการที่เกษตรกรส่วนใหญ่แทบจะไม่มีใครสนใจเลย เพราะคิดว่า มันมีกรรมวิธีสลับซับซ้อนกว่า การเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย ในปี 2521 ทางกรมวิชาการเกษตร ได้มอบประกาศนียบัตรประกาศเกียรติคุณให้แก่ผู้เขียนในฐานะที่เป็นผู้บุกเบิกการเพาะเห็ดฟางในโรงเรือนแบบอานนท์ 2517 จนกระทั่ง ในปี 2527 มีนายสำราญ ชื่นทรัพย์ บ้านหนองหมู อำเภอวิหารแดง ได้นำเอาวิธีการเพาะเห็ดฟางในโรงเรือนไปเพาะเป็นครั้งแรกได้ผลดี ทางทีวีสีช่อง 7 ได้นำเอาไปออกข่าวในรายการข่าวเกษตรตอนเช้า ทำให้เป็นจุดเริ่มต้นของชาวบ้านหนองหมูแทบทุกหลังคาเรือน ทำการเพาะเห็ดฟางด้วยกรรมวิธีนี้และได้กระจายไปอย่างรวดเร็วทั่วทั้งประเทศ กลายเป็นอาชีพการเพาะเห็ดฟางแบบยั่งยืน เกษตรกรสามารถยึดเป็นอาชีพที่มั่นคง และทำรายได้เป็นอย่างดีอาชีพหนึ่งของการเกษตรไทยตราบทุกวันนี้


แม้ว่า การเพาะเห็ดฟางในโรงเรือน เกษตรกรสามารถยึดเป็นอาชีพที่มั่นคงและยั่งยืนได้เป็นอย่างดี แต่เกษตรกร ก็ยังยึดมั่นถือมั่นอยู่กับวัสดุเพาะที่ได้เรียนรู้ไปจากการอบรมเท่านั้น เช่น ใช้ขี้ฝ้าย เปลือกถั่ว เปลือกมัน เมื่อมีการเพาะเห็ดด้วยวิธีนี้กันมากๆ เกิดการแย่งซื้อวัสดุดังกล่าวมาเป็นวัตถุดิบในการเพาะเห็ดฟาง เกิดภาวะการขาดแคลน ราคาสูงจนทำให้ต้นทุนการผลิตสูงยิ่งขึ้น จนเกษตรกรบางรายถึงกับประสพปัญหาขาดทุนและเลิกกิจการไปก็มีหลายราย นอกจากนี้ กรรมวิธีดังกล่าว เป็นการทั้งเลี้ยงเชื้อรา เชื้อเห็ด และรวมถึงการทำให้เห็ดออกดอก ใช้สถานที่เดียวกัน ในอดีตอาจจะใช้ได้ เพราะเชื้อเพลิง แรงงาน ค่าวัสดุการก่อสร้างยังพอสู้ได้ แต่ปัจจุบัน วิธีดังกล่าว กลับมีข้อจำกัด และไม่สามารถทำเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ จากเหตุผลดังกล่าว ในปี 2532 ผู้เขียนได้รับเชิญจากประเทศกาน่า(แอฟริกาตะวันตก) ผ่านองค์การค้าโลก แห่งสหประชาชาติ ให้ไปเป็นผู้เชี่ยวชาญเห็ดที่ประเทศนี้ เพราะเป็นประเทศที่นิยมทานเห็ดมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เห็ดฟาง ซึ่งเขาเรียกว่า เห็ดปาล์มน้ำมัน(Oil Palm mushroom) เพราะมันมักจะเกิดขึ้นบนต้นปาล์มที่เขาล้มแล้วเน่า ก็จะมีเห็ดปาล์มเกิดขึ้น ผุ้เขียนได้ไปทำการวิจัยที่ประเทศย่านนี้หลายประเทศ พบว่า ทะลายปาล์ม ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากโรงงานบีบเอาน้ำมันปาล์มออกจากผลและทะลายปาล์มแล้ว ส่วนที่เป็นทะลายและกากผลก็จะถูกนำเอาไปทิ้งหรือเผาไฟทิ้ง เมื่อทดลองนำมาเพาะเห็ดฟางแล้ว พบว่า ให้ผลผลิตสูงกว่าขี้ฝ้าย เปลือกมันสำปะหลังที่นิยมใช้กันในเมืองไทย เมื่อได้ผลการวิจัยค่อนข้างชัดเจนแล้ว ผู้เขียนจึงนำเอาผลการวิจัยดังกล่าว มาอบรมให้แก่เกษตรกรผู้เพาะเห็ดฟางที่หาดใหญ่ สงขลา และที่พุนพิน สุราษฎร์ธานีในปี 2537

จนกระทั่ง ปัจจุบันการเพาะเห็ดฟางในโรงเรือน นิยมใช้ทะลายปาล์มมาเพาะมากกว่าใช้วัสดุอย่างอื่น เพราะผลที่ได้แน่นอนกว่า หาได้ง่ายกว่าตลอดทั้งปี โดยราคาไม่กระโดดขึ้นลงมากนัก ส่วนวิธีการเพาะนั้น ผู้เขียนได้พัฒนากรรมวิธีการเพาะ ด้วยการแยกส่วนการปฎิบัติ ด้วยการบรรจุวัสดุเพาะในกระบะ จากนั้น จึงนำไปเลี้ยงเชื้อรา อบฆ่าเชื้อ ใส่เชื้อเห็ด แล้วเลี้ยงเชื้อเห็ดในสถานที่เฉพาะ เมื่อถึงเวลา ทำให้เกิดดอก สามารถย้ายไปยังสถานที่ที่ทำให้เกิดดอก ที่เป็นโรงเรือนที่เป็นโครงสร้างง่ายๆได้ วิธีการนี้ เป็นกรรมวิธีที่แบ่งงานกันทำได้ สามารถทำกันได้ในลักษณะกลุ่มขนาดใหญ่ กล่าวคือ ทางกลุ่ม อาจจะลงทุนร่วมกันในการทำปุ๋ยหมัก จนกระทั่งถึงเพาะเลี้ยงเส้นใยเห็ด ซึ่งส่วนนี้ จะต้องใช้เงินลงทุนและความชำนาญสูง จากนั้น เกษตรกรที่เป็นสมาชิกหรือลูกไร่ ก็เพียงแต่มีโรงเรือน ซึ่งสามารถดัดแปลงใต้ถุนบาน หรือสร้างโรงเปิดดอกแบบง่ายๆ แล้วรับเอากระบะที่มีเส้นใยเห้ดเจริญเต็มที่แล้ว เพื่อมาดูแลรักษาและเก็บเกี่ยวดอกเห็ดเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องเสียเวลาไปทำทุกขั้นตอน และไม่จำเป็นต้องลงทุนสูง วิธีการเพาะเช่นนี้ เรียกว่า การเพาะเห็ดฟางในโรงเรือนแบบอานนท์ 2552

ใส่ความเห็น