หลังจากที่ผมกลับจากการไปสอนเรื่องเห็ดในต่างประเทศกว่ายี่สิบปี โดยกลับมาอยู่เมืองไทยเป็นการถาวรตั้งแต่ปี 2548 ผมก็เริ่มหาซื้อที่ดินเป็นของตัวเอง ที่ซอยไอยรา 38 (ที่อยู่ปัจจุบัน) หกไร่ๆล่ะ 2.5 ล้านบาทโดยกู้เงินธนาคารมา 120% คือ 100% เป็นค่าที่ อีก 20% เป็นค่าพัฒนาที่ตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ธนาคาร สัญญากู้ 12 ปี(จ่ายมาแล้ว ทั้งต้นทั้งดอกไม่เคยขาด เหลืออีกแค่สองปีก็หมดหนี้แล้ว) 

พอได้ที่ที่ซอยไอยรา 38 แล้ว ใจชักฮึกเหิมว่ากำลังพอมี และอยากจะสร้างอาณาจักรหรืออุทยานเห็ด เหมือนต่างประเทศเขา จึงต้องการที่ให้มันใหญ่ขึ้นสักยี่สิบสามสิบไร่ ก็พากันไปซื้อที่พุแค 18 ไร่ โดยน้องสาวคือ อ.อรทัย เป็นคนออกเงินให้ก่อน ที่ตรงนั้น มันติดกับบ่อลูกรังของนายทุนใหญ่ ที่ไม่มีหนังสือสำคัญ เพราะเป็นเชิงเขา แต่นายทุนเขาสามารถทำให้มีเอกสารสิทธิ์ได้ แล้วก็ขุดหน้าดินลูกรังไปขายเป็นหลุมลึก ทำให้ที่ซื้อไว้ไม่มีน้ำและดูเหมือนจะเล็กไป ก็หาซื้อที่เพิ่ม ก็ไปเจอที่ตำบลเพนียด อำเภอโคกสำโรง เป็นที่ที่ไปจำนองกับธนาคารยึด แล้วขายทอดตลาด โดยมีอีกธนาคารหนึ่งซื้อไว้ในราคาถูกแล้วเอามาประกาศขายในราคาสูงประมาณเกือบ 200 ไร่ เป็นพื้นที่ที่พื้นเป็นหินแกรนิต ปลูกอะไรแทบไม่ได้ น้ำไม่ไหล ไม่ซึมผ่านได้ ขุดไปลึกเท่าไหร่ก็ไม่เจอตาน้ำ มีแต่หิน ไม่มีแหล่งน้ำ มีแต่ลำธารเล็กๆที่น้ำฝนไหลจากที่สูงผ่านด้านข้างของที่ทั้งสองข้าง ด้านหน้าติดถนนราดยาง กว้างประมาณ 600 เมตร มีทายาทเจ้าของที่เดิมสร้างบ้านเรือนอยู่ไม่ยอมหนี แต่ผมเห็นแล้วมันใหญ่ดี ยิ่งไม่มีน้ำเลย ผมก็ยิ่งชอบ เพราะมันท้าทายดี ผมจึงตัดสินใจซื้อเมื่อปี 2553 

พอซื้อเสร็จ ผมก็จ้างรถแบ๊คโฮมาขุดสระเล็กใหญ่ประมาณ 20 บ่อ แต่ละบ่อลึกประมาณสามช่วงบูมของรถขุด หรือลึกประมาณ 8-10 เมตร โดยเอาดินที่ขุดได้ ไปถมส่วนที่ตื้น บางที่ถมสูงเกือบสามเมตร เพื่อปรับสภาพพื้นให้เสมอ ง่ายแก่การบริหารจัดการ และการที่ดิน เป็นหินดาน น้ำไม่ซึมผ่านได้นั้น ยิ่งดี เพราะเราสามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ได้ตลอดทั้งปี นี่ก็เช่นกันครับ กู้เงินจากธนาคารเขามาซื้อ แต่เนื่องจากตอนที่ผมซื้อนั้น ผมอายุย่างเข้า 59 ขวบแล้ว เขาจึงอนุมัติให้กู้ได้ แต่ต้องผ่อนให้เสร็จตอนอายุ 65 ปี แล้วเขายังเผื่อให้อีกนิดหน่อยเป็น 66 ปีหย่อนๆก็ได้ ผมก็โอเค นี่ผ่อนก็เกือบหมดแล้วครับ เหลือปีกว่าๆเท่านั้น 

แต่การพัฒนาที่สิครับ ใช้เงินเยอะเหลือเกิน แค่ขุดสระเกือบยี่สิบบ่อ ใช้รถขุดขนาดใหญ่ จ้างเขามาขุดเป็นเวลาปีหนึ่งพอดี หมดเงินไปมากกว่า 10 ล้านบาทครับ ก็โอเคพอหมุนได้มาถึงทุกวันนี้ เมื่อวานเจ้าหนาที่ฝ่ายสินเชื่อโทรมาบอกว่า วันนี้ จะส่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายประเมินทรัพย์สินไปตรวจสอบดูสถานที่ว่า ที่ที่ผมซื้อไว้นั้น ยังอยู่ไหม ในสภาพเป็นเช่นไร โดยนัดกันวันนี้บ่าย(10 พ.ย. 2560) และแล้ว เจ้าหน้าที่ฝ่ายประเมินทรัพย์สินของธนาคารที่ผมกู้ก็ไปตามนัดเวลาประมาณบ่ายโมงกว่า โดยผมไม่ได้ไปดูด้วย ให้คนเฝ้าที่คอยดำเนินความสะดวกให้ 

พอเวลาผ่านไปแค่ 15 นาที คณะของเจ้าหน้าที่ธนาคารรีบโทรมาหาด้วยความตระหนกตกใจว่า ผมขุดดินไปขายเหรอ เห็นบ่อเยอะแยะเลย ก็เลยบอกให้เขาใจเย็นๆ ค่อยพูดค่อยจาก็ได้ เลยเล่าให้เขาฟังว่า เดิมที่ซื้อที่ตรงนี้ บางแห่งมันเป็นห้ว เป็นหนอง ตำกว่าถนน บางแห่งก็เป็นโคก หน้าฝนน้ำขังปลูกอะไรก็ไม่ได้ หน้าแล้ง น้ำก็แห้ง ปลูกอะไรก็จะเหลือแต่วิญญานคือ ตายหมด ด้วยเหตุนี้ เพื่อต้องการทำที่นี้ให้เป็นที่ที่สามารถบริหารจัดการได้ จะต้องปรับพื้นที่ให้ค่อยๆลาดเอียงประมาณ 5-7 องศา ทุกๆองศาแห่งการลาดเอียง ก็จะขุดบ่อไว้เก็บกักน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง จึงจำเป็นต้องขุดบ่อให้ลึก เพื่อเอาดินมาถมส่วนที่เป็นบ่อหรือตื้น และเอาน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง จากนั้น ก็จะทำการปลูกพืชตระกูลถั่ว เช่น ไม่ก้ามปูหรือฉำฉา กระถิน และแค เพื่อบำรุงดิน จึงจะเห็นเปรียบเทียบกับภาพเดิมที่เขาถ่ายไว้ว่า ที่จะเป็นหลุม เป็นหนองน้ำ แต่เดี๋ยวนี้ ที่จะลาดเตียน และมีการปลูกต้นไม้ขึ้นสวยงาม เพราะมีการบำรุงดินและมีน้ำใช้ตลอดปี 

พอพูดมาถึงตอนนี้ เจ้าหน้าที่ จากที่เรียกพี่ กลายเป็นเรียกอาจารย์ เพราะแกบอกว่า คนที่มาซื้อที่แถวนี้ ล้วนแล้วแต่มาซื้อที่ เอาหน้าดินไปขาย แล้วก็ไม่จ่ายค่างวดเลย พอธนาคารมายึดคืน ก็กลายเป็นหลุมลึกใช้การอะไรไม่ได้เลย แต่ที่ตรงที่ผมซื้อ มันไม่เหมือนที่อื่น พอเขาเอารูปเก่ามเทียบ เขาบอกว่า ของผมเป็นน้อยรายที่สุด ที่สามารถพัฒนาที่จนสามารถปลูกต้นไม้ได้เขียวขจี และมีบ่อน้ำเต็มบ่อ เขาบอกว่า ทีแรกเข้ามา คิดว่า ผมขุดหน้าดินแล้วหนีหนี้ ก็เลยบอกไปว่า กรุณาแฮกตาดูหน่อยว่า ผมจ่ายค่างวดมาทุกเดือนไม่เคยขาด และเหลืออีกแค่ปีกว่าๆ ก็หมดหนี้แล้ว ผลสุดท้าย เขาเสนอว่า ยังมีที่สวยๆอีกหลายแปลงนะ อาจารย์สนใจอีกไหม จะลดราคาพิเศษให้ แหม ทีอย่างนี้ เสียงอ่อนเสียงหวานเชียว ในใจด่าแม่แกไปแล้วหลายบทครับ ที่ไม่ได้ดูตาม้าตาเรือว่า ไผเป็นไผ ทำเราตกอกตกใจ ราวกะว่า เรากำลังวิ่งราวทรัพย์ธนาคารปานนั้น

Similar Posts

ใส่ความเห็น