โรงเรือนปิด ควบคุมอุณหภูมิในการเพาะเห็ด

ที่มา

นี่ก็ถือเป็นความโชคดีของผม ที่เข้าเรียนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เมื่อปี 2516 แล้วก็เริ่มทำกิจกรรมเรื่องเห็ด โดยร่วมกันก่อตั้งชมรมเห็ด ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ขึ้นในปีนั้น โดยผมได้เป็นประธานชมรมเห็ดเมื่อปี 2518 โดยได้รับรางวัลจากสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ผมเป็นผู้นำเอาองค์ความรู้เรื่องการเพาะเห็ดไปสู่เกษตรกรส่วนภูมิภาคครบทุกภาคเป็นคนแรก ทำให้ประเทศไทยเริ่มมีตัวเลขเป็นหนึ่งของโลกอย่างโดดเด่นในประเทศที่มีการเพาะเห็ด

และในปี 2518 นี่เอง ที่ผมได้เสาะหาข้อมูลเกี่ยวกับงานวิจัยเรื่องเห็ดในประเทศไทยเพิ่มเติม โดยได้ไปพบไปรู้จัก อาจารย์ พันธุ์ทวี ภักดีดินแดน หัวหน้าสาขาจุลชีววิทยาประยุกต์ ที่รับผิดชอบงานวิจัยเรื่องเห็ดจากอาจารย์ก่าน ชลวิจารณ์ ตั้งแต่ปี 2495(ก่อนผมเกิดหนึ่งปี) แต่งานวิจัยเรื่องเห็ดของท่าน ถูกเก็บไว้แต่ในลิ้นชัก ไม่เคยนำออกเผยแพร่สู่สาธารณะ พอผมไปขอความรู้จากท่าน ท่านก็ยินดีถ่ายทอดข้อมูลให้ผมทุกอย่าง และขอให้ผมเป็นลูกบุญธรรมของท่านด้วย นี่ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง ที่ผมจบมาทางพืชไร่ แต่ทำไม ผมต้องมารับราชการอยู่กองโรคพืช

ในช่วงนี้เอง ผมได้รับมอบหมายจากท่านอาจารย์พันธุ์ทวี ให้ช่วยงานวิจัยของท่านในเรื่องการเพาะเห็ดเมืองหนาว ก็คือ เห็ดหอม และเห็ดแชมปิญอง ซึ่งผมต้องไปเพาะเห็ดอยู่ที่เรือนเพาะชำ ของสาขาพฤกษศาสตร์ ที่มีท่านอาจารย์อำไพ ยงบุญเกิด(เพื่อนของ อ.พันธุ์ทวี ดูแลอยู่) ตรงนี้เองครับ ที่ผมได้สัมผัส ได้รู้ ได้เห็นและได้เข้าใจว่า การทำให้โรงเพาะเห็ดในสภาพอากาศที่ร้อนอย่างกรุงเทพ แต่ทำให้เรือนเพาะชำเย็นได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องปรับอากาศ เป็นโรงเรือนที่ทำด้วยกระจก ระบบปิด มุมหนึ่งของห้อง จะเป็นห้องขนาดเล็ก กว้างประมาณ 80 ซม.ด้านข้างจะเป็นอิฐบล๊อคโปร่งให้ลมผ่านได้ ภายในห้องใส่บรรดาอิฐหักและถ่านเข้าไปให้เต็มห้อง แล้วรดน้ำด้วยระบบท่อที่น้ำถูกฉีดเป็นฝอยด้านบน ส่วนด้านข้างอีกด้านหนึ่ง ที่อยู่ตรงกันข้าม ก็จะเป็นพัดลมดูดอากาส เมื่ออากาศถูกดูดผ่านห้องเล็กๆที่มีอิฐหักและถ่านที่เปียกชุ่มด้วยน้ำ มันก็จะเกิดการระเหย ผ่านไปยังห้องเพาะต้นไม้ และเห็ด ทำให้อุณหภูมิในห้องลดลงได้มากกว่า 5-7 องศาเซลเซียส ค่อนข้างสม่ำเสมอ ที่สามารถที่จะเพาะเห็ดหอมและเห็ดแชมปิญองได้ แม้กระทั่งฤดูร้อน

เท่าที่ผมทราบจากท่านอาจารย์อำไพ ท่านเล่าให้ฟังว่า ห้องดังกล่าว ท่านสร้างมาตั้งแต่ปี 2505 เกือบยี่สิบปีที่ผมได้มีโอกาสไปใช้ และนี่ไงครับ คือ ระบบอีแว๊ปที่กำลังโด่งดังในปัจจุบัน เป็นระบบเดียวกับพัดลมไอน้ำที่เป็นที่นิยมกันปัจจุบัน และเป็นเรื่องที่ ผมคิดว่า ถึงเวลาแล้ว ที่ผู้เพาะเห็ดบ้านเรา ควรต้องมาสนใจ และหันมาพิจารณาใช้การเพาะเห็ดแบบปิดกันได้แล้ว ไม่เช่นนั้น เราจะไม่สามารถควบคุมผลผลิตของเห็ดที่เราเพาะได้ตลอดทั้งปี เมื่อผมทราบจากฟาร์มเห็ดภูผาว่า ได้พัฒนาสร้างโรงเพาะเห็ด โดยอาศัยความรู้ ความชำนาญจากอาชีพเดิม ที่ทำการเพาะเลี้ยงสุกรในโรงอีแว๊ป ผมดีใจ และอยากจะให้ความฝันที่ผมฝันมานานเป็นจริง และบัดนี้ ฟาร์มเห็ดภูผาก็ได้พิสูจน์ออกมาแล้วว่า แม้ดินฟ้าอากาศจะเลวร้าย วิปลาศเพียงใด โรงเรือนแบบปิดที่ใช้ระบบการระเหยของน้ำที่เรียกว่า อีแว๊ปนั้น คือ คำตอบที่ถูกต้องที่สุด สำหรับผมแล้ว คำว่า ระบบอีแว๊ปนั้น ไม่จำเป็นจะต้องใช้เครื่องไม้ เครื่องมืออะไรที่สลับซับซ้อนเลย สามารถใช้ความรู้จากธรรมชาติ และสิ่งของที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นเอามาใช้ได้ ซึ่งจะกล่าวในตอนต่อไป

จินตนาการ

ที่บอกว่า ระบบอีแว๊ปนั้น มันเป็นเรื่องที่ง่ายมาก ที่อาศัยความรู้ที่ใกล้ตัวของเราเองนี่แหละ ขอให้ลองมาพิจารณาที่ตัวเองเป็นดีที่สุด อยากจะถามว่า ท่านเคยอาบน้ำไหมครับ คำตอบก็คือ บ้าสิใครๆก็อาบน้ำกันทั้งนั้น ทีนี้จะถามต่ออีกว่า ตอนที่ท่านอาบน้ำนั้น ใส่เสื้อผ้าหรือแก้ผ้า คำตอบอีกก็คือ บ้าสิ ใครจะอาบน้ำโดยไม่แก้ผ้า คำถามต่อไปถามว่า เวลาท่านอาบน้ำแล้วแก้ผ้า แล้วเกิดวันไหนท่านอยู่บ้านคนเดียว เผลอแก้ผ้าอาบน้ำ แล้วเดินโทงๆออกมาเอาของนอกห้องน้ำที่กว้างกว่า และบังเอิญว่า ห้องที่ท่านเดินออกมานั้นเปิดพัดลมอยู่ พอเราโดนพัดลมเป่า ตัวเราก็จะแห้งเร็วใช่ไหม ขณะที่ตัวเราเองแห้งเร็วนั้น ยิ่งแห้งเร็วเท่าไหร่ เพราะถูกลมเป่า เราก็จะมีความรู้สึกเย็นมากยิ่งขึ้นใช่ไหม นี่ไง นี่คือ ความรู้ไง ที่ทำให้รู้ว่า น้ำที่เราอาบ หากออกมาที่โล่ง(ดูซ้ายดูขวาดีๆน๊ะ เดี๋ยวจะมีคนเห็นผีจุ้นน๊ะ) น้ำมันก็จะระเหยเป็นไอใช่ไหม การที่น้ำจากของเหลว ระเหยเป็นไอนั้น มันจะต้องอาศัยพลังงานบริเวณใกล้เคียง รวมทั้งที่เนื้อหนังมังสาเราเอาไปด้วย เราจึงรู้สึกเย็น เท่านี้เอง คือ หลักการของระบบอีแว๊ป บทความนี้

ตู้เย็นธรรมชาติขนาดย่อม

เอาเถอะครับ ลืมเรื่องแก้ผ้าอาบน้ำดีกว่า เพราะพูดไปพูดมาชักเสียว เอาใหม่ ท่านเคยสังเกตไหมว่า น้ำที่ใส่โอ่ง ใส่ตุ่มที่เป็นโลหะ หรือพลาสติก กับน้ำที่ใส่โอ่งดิน ที่มีน้ำซึมออกมาที่ผิวเล็กน้อย ท่านเคยสังเกตหรือไม่ว่า เจ้าน้ำที่อยู่ในโอ่งดินเผา จะเย็นกว่าน้ำที่อยู่ในโอ่งหรือถังพลาสติก ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะโอ่งหรือกระถางดินนั้น น้ำมันซึมออกมาตามผิวของภาชนะแล้วระเหยออกไปเป็นไอ มันจึงเย็นไง นี่ไงครับ ที่เมื่อไม่กี่วัน ที่ผมไปเยี่ยมเกษตรกรที่อำเภอสอง หรือที่อุตรดิตถ์ว่า ช่วงหน้าร้อนเช่นนี้ หัวเชื้อเห็ด หรือก้อนเห็ดจะชะงักการเจริญเติบโต เพราะอากาศร้อนมาก แต่หากเอาโอ่งดินมารถน้ำให้เปียก ปล่อยให้ลมผ่นให้มีการระเหย มันจะเย็นพอที่จะบ่มเชื้อได้ และนี่แหละครับ คือ ศาสตร์ หรือวิธีการที่ผมเอาไปสอนคนที่แอฟริกา ที่ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีตู้เย็น แต่ต้องการถนอมผัก ถนอมเห็ด หรือบ่มเชื้อเห็ด ก็ให้เอากระถางหรือโอ่งดินเผาสองใบที่มีขนาดแตกต่างกันมาวางซ้อนกัน แล้วเอาทรายหยาบใส่ให้เปียก น้ำก็จะค่อยๆซึมออกจากข้างโอ่ง ทำให้ตรงกลางกลายเป็นตู้เย็นที่ใช้เก็บเห็ด เก็บผักได้ (โอเค ตอนนี้ต้องไปดูช่างก่อสร้างก่อน มีเวลาจะเล่าต่ออีกเรื่อย จนกระทั่งถึงการทำโรงเพาะเห็ดอีแว๊ปแบบง่ายๆต่อไป แต่เรื่องแก้ผ้าอาบน้ำจบแล้วน๊ะครับ)

ตู้เย็นธรรมชาติขนาดกลาง

เอาล่ะครับวันนี้ คงไม่ต้องพูดพล่ามทำเพลงอะไรมาก หลังจากเมื่อคืนดูปริศนาฟ้าแลป ต่อด้วย Who can see your voice ปิดท้ายด้วยดูบอลระหว่างเมืองทองกับสุพรรณบุรี ซึ่งเมืองทองเฉือนเอาชนะไป 1:0 แล้วผมก็หลับไปเลย มาตื่นอีกทีด้วยความสดชื่ประมาณเกือบตีสี่ ก็ถือว่าได้นอนครบหกชั่วโมงตามนาฬิกาชีวิตของผมกำหนด

ผมจะมาพูดถึงเรื่องการเพาะเห็ดแบบระบบปิดต่อ โดยความรู้จากธรรมชาติที่เราสามารถจับต้องได้ดังที่ผมได้กล่าวไปแล้ว ในเรื่องของการอาบน้ำ หรือการใช้โอ่งดินทำตู้เย็นธรรมชาติ ทีนี้ก็จะขอขยับไปถึงเรื่องของการทำตู้เย็นแบบธรรมชาติอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ผมได้นำเอาความรู้นี้ไปสอนคนในประเทศทางอินเดียและแอฟริกา ที่เขาอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ร้อนและแห้งแล้งแบบกึ่งทะเลทราย ซึ่งผมเคยทำแล้วเอาไปโชว์ในช่วงที่เขามีนิทรรศการ Appropriate technology ที่สถาบัน เอไอที รังสิตเมื่อปี 2519 ก็มีลักษณะเหมือนพัดลมไอน้ำปัจจุบัน ต่างกัน แทนที่ใช้แผงแล้วใส่ถ่านจากไม้เนื้ออ่อนที่เบาและโปร่งเข้าไปโดยรอบ ด้านบนมีจานรองน้ำใส่น้ำเลี้ยงเอาไว้ แล้วใช้ผ้ากระสอบหรือผ้าฝ้ายจุ่มลงไปในน้ำ อีกด้านหนึ่งปล่อยชายลงด้านข้างของตู้ เพื่อให้ผ้าซับเอาน้ำแล้วไหลลงมายังผนังถ่าน คล้ายๆระบบไส้ตะเกียง เมื่อน้ำที่อยู่ในถ่านเปียกระเหย ภายในตู้หรือห้องด้านในก็จะเย็นและมีความชื้นสูงพอสมควร สามารถที่จะเก็บผักและผลไม้ให้สดอยู่เสมอได้นานคล้ายๆกับเก็บไว้ในตู้เย็นฉันใด

ดังนั้น ในเมื่อเข้าใจในหลักการแล้วว่า ระบบอีแว๊ป ที่ทำให้เกิดขบวนการน้ำที่เป็นของเหลว ให้ระเหยเป็นไอตามธรรมชาตินั้น ยิ่งอากาศ ยิ่งร้อน ยิ่งแห้ง การระเหยของน้ำก็ยิ่งเร็ว เมื่อน้ำที่มีสถานเป็นของเหลวระเหยจนกลายเป็นไอได้มากเท่าไหร่ มันยิ่งดูดเอาความร้อนไปด้วย ความร้อนดังกล่าวนั้น เรียกว่า ความร้อนแฝง ก็ยิ่งทำให้สภาพแวดล้อมใกล้เคียงได้รับอานิสสงส์พลอยเย็นไปด้วย ยิ่งเราทำเป็นห้องเป็นหับ โดยทำให้มีแผงอะไรก็ได้ ที่โปร่ง แล้วใส่น้ำให้เปียก ทำเป็นฝาห้อง เมื่อน้ำระเหย แน่นอนครับ อุณหภูมิภายในห้องก็จะเย็น ผมเคยมีประสบการณ์ในการทำโรงเพาะเห็ดระบบปิดโดยใช้ถ่านคลุมทั้งโรงเรือน แล้วทำให้ผนังที่ใช้ถ่านเปียก ในสภาพอากาศที่ร้อนจัด ลมแรง อุณหภูมิภายนอกสูง 43 องศาเซลเซียส แต่อุณหภูมิภายในห้องเพาะเห็ดลดลงเหลือเพียง 30 องศาเซลเซียสเท่านั้น ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่เหมาะอย่างยิ่งในการเพาะเห็ดทั่วๆไป เช่น เห็ดนางรม เห็ดนางฟ้า เห็ดหูหนู เป็นต้น

ดังนั้น สิ่งที่ผมพูดมาทั้งหมด สมาชิกก็คงจะเข้าใจแล้วน๊ะครับว่า การสร้างโรงเพาะเห็ด รวมทั้งโรงบ่มก้อนเชื้อเห็ดระบบปิด ที่ใช้การระเหยของน้ำให้เป็นไอ ที่เรียกว่า ระบบอีแว๊ปนั้น สามารถสร้างและทำได้ง่ายเหลือเกิน เพียงแค่ใช้วัสดุอะไรก็ได้ ที่มันพรุน มันดูน้ำได้ดี เช่น ถ่าน อิฐหัก อิฐมวลเบาหัก หิน(แม้ไม่ดูดน้ำ แต่ใส่ไปเยอะ ผนังหนาหน่อยก็โอเค) ใบไม้ เช่น ฟาง ทางมะพร้าว ใบกล้วย หญ้าคา ต้นข้าวโพด ใช้ได้ทั้งนั้น เพียงแต่หากใช้ฟาง ทางมะพร้าว อะไรพวกนี้ จะเน่าและเปื่อยเร็วเท่านั้น แต่ใช้ได้ดีมากน๊ะครับ เพราะที่ผมไปสอนที่อินเดีย หรือแอฟริกาตะวันตก ก็ใช้ของพวกนี้ ส่วนพัดลมที่ใช้ดูดให้ลมเย็นผ่านนั้น ก็ไม่จำเป็นต้องใช้พัดลมก็ได้ ใช้ธรรมชาติจากพลังแสงอาทิตย์ หรือธรรมชาติของการหมุนเวียนของความร้อน ที่ความร้อนที่มากและสูงกว่าจะลอยขึ้นข้างบน ด้วยเหตุนี้ เราสามารถสร้างโรงเรือนให้มีการหมุนเวียนอากาศได้เอง โดยด้านหนึ่ง อาจจะทำเป็นปล่องให้สูงขึ้น ทาด้วยสีดำ เมื่อมันถูกแสงแดดมันจะร้อน แล้วดูดอากาศจากภายในห้องออกมาที่สูงได้เอง นี่ครับ ดูลักษณะของแผงที่มีลักษณะที่แตกต่างกันไปตามที่เราสามารถหาวัสดุดังกล่าวได้ง่าย

นี่ดูเอาเถอะครับว่า การสร้างโรงเพาะเห็ดแบบปิด ไม่มีอะไรยุ่งยากเลย เพราะตัวที่เราคิดว่า มันคือปัญหาและหายาก (ส่วนใหญ่เกรงว่า จะไม่เหมือนชาวบ้าน หรือของที่ซื้อมาจากต่างประเทศเขา)นั้น จริงๆแล้ว เป็นวัสดุที่ใกล้ตัวเราเองที่หาง่าย แทบไม่มีราคาค่างวดอะไร แล้วเอามาทำได้ง่ายๆ ยิ่งที่ไหน ที่ใกล้แหล่งที่เขาเผาถ่าน ให้ไปเอาเศษถ่านมาทำเป็นแผงอีแว๊ป จะดีกว่า แผงอีแว๊ปที่เป็นเซลลูโลสที่ต้องสั่งเอามาจากต่างประเทศเสียอีก เพราะถ่านมีรูพรุนที่จะดูดน้ำได้ดีกว่า และที่สำคัญ เนื่องจากถ่าน มีสภาพของตัวมันเองเป็นด่าง มันจึงไม่สร้างปัญหาในการเกิดเชื้อโรค เช่น รา และแบคทีเรียได้ง่าย และที่สุดของที่สุดในคุณสมบัติของถ่าน คือ มันจะช่วยฟอกอากาศให้สะอาดได้ดีกว่าด้วย จากประสบการณ์ของผม พบว่า ถ่านจากไม้เนื้ออ่อน รวมถึง ถ่านจากซังข้าวโพด ไม้ไผ่ จะมีคุณสมบัติในการทำระบบอีแว๊ปได้ดีมาก เพราะเบาและมีรูพรุนที่จะดูดน้ำได้ดีกว่า การระเหยก็จะเร็วกว่า

สุดท้าย

ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า บทความที่ผมได้เสนอแนวคิดนี้ เป็นความใฝ่ฝันสูงของผมมาตั้งแต่ปี 2519 ที่อยากจะสนับสนุนให้ผู้เพาะเห็ดในประเทศไทย มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา นำเอาวิชาการและความรู้ง่ายๆแบบอาศัยธรรมชาติแต่ได้ผล เอามาใช้แก้ไขปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ในธุรกิจการเพาะเห็ดของเรา เพื่อให้ต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพดินฟ้าอากาศที่มันเลวร้ายลงทุกวัน ที่สำคัญ หากเรา ยังยึดมั่นถือมั่น ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ปล่อยให้การเพาะเห็ดให้เป็นไปตามฤดูการ เราจะสู้ประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้เลย ดูอย่างปัจจุบันนี้สิ บรรดาห้างร้านทั้งหลาย แต่ก่อน เคยเอาเห็ดนางฟ้า เห็ดนางรม เห็ดฟางขายตามห้างร้านต่างๆ แต่ปัจจุบัน กลายเป็นเห็ดนำเข้าเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะเห้ดนำเข้านั้น เป็นเห็ดที่เพาะในระบบปิดทั้งสิ้น และระบบปิด ดังที่ผมได้เสนอไปนั้น ไม่จำเป็นเสมอไป ที่จะต้องเป็นห้องที่จะใช้ความเย็นจากเครื่องปรับอากาศเสมอไป เราสามารถใช้ระบบอีแว๊ปได้ผลดีกว่าเสียอีก

ตัวอย่างของการนำเอาเทคโนโลยี่การเพาะเห็ดระบบปิดมาใช้ แล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่ามโหฬารเกิดขึ้นแล้วที่ประเทศจีน กล่าวคือ ก่อนปี 2000 โลกทั้งโลก เพาะเห็ดรวมกันได้ไม่เกิน 10 ล้านตัน เป็นของจีนเสีย 1.5 ล้านตัน แต่พอรัฐบาลจีนส่งเสริมให้มีการเพาะเห็ดโยระบบปิด โดยทางรัฐบาลช่วยเหลือระบบเงินทุน และสนับสนุนให้เพาะเห็ดเพื่อการส่งออก โดยนำเอาวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรที่มีเป็นจำนวนมาก ที่ก่อให้เกิดปัญหามาเป็นวัสดุเพาะ ใครก็ตาม สามารถเพาะเห็ดและส่งออกได้ เขาก็จะมีสิทธิพิเศษในการกู้เงินและได้ภาษีคืนจากการส่งออกเป็นการตอบแทนเพิ่มขึ้น แค่เพียงอีกสิบปีให้หลัง คือ ปี 2010 ประเทศจีนสามารถผลิตเห็ดได้มากกว่า 28.5 ล้านตัน มากกว่าโลกทั้งโลกผลิตได้เกือบสามเท่าตัว แต่คนในประเทศจีนมีความต้องการบริโภคเห็ดได้สูงสุดแค่ 20 ล้านตัน ดังนั้น ส่วนที่เหลอ รัฐบาลจีนจึงผลักดันให้ทำการส่งออก แม้จะส่งออกราคาถูกกว่าครึ่ง ก็ดีกว่าทิ้ง ที่สำคัญ นโยบายที่ส่งเสริมให้เพาะเห็ดเกินความต้องการภายในที่เหลือส่งออกนั้น อย่างนี้ที่แน่ๆ ประเทศจีนจะไม่มีวันที่เห็ดจะขาดตลาดเลย แถมยังมีการส่งออก แล้วประเทศไทยของเราก็ได้รับผลกระทบนั้น จากเห็ดสดราคาถูกๆจากจีนและญี่ปุ่น

ด้วยประการฉะนี้แล แล้วเราจะยังนอนนานตื่นสายกันอีกเช่นนี้เหรอ 55555+ ผมก็ได้ทำหน้าที่ของผมได้มากที่สุดก็เท่านี้เองครับ คงไม่สามารถที่จะเรียกใครมาปรับทัศนคติให้เป็นไปที่ต้องการได้เหมือนคนอื่นเขา และหากใครจะทำว่าโรงเรือนปิด หรือระบบอีแว๊ปเป็นเช่นไรอีกละก๊ ขอให้สมาชิกที่เข้าใจแล้วช่วยตอบแทนผมด้วย โดยบอกให้ไปเริ่มจากทฤษฏีแก้ผ้าอาบน้ำ หากยังไม่เข้าใจอีก ก็บอกว่าแก้ผ้าแล้ว อาบน้ำแล้ว ให้เอาพัดลมยี่ห้ออะไรก็ได้เป่า ส่วนจะเป่าตรงไหน ก็ช่างเขาเถอะน๊ะ

ใส่ความเห็น