หลังจากที่ผมจบการศึกษาระดับปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อปีการศึกษา 2518 ได้เข้ารับราชการเป็นลูกจ้างชั่วคราว ที่สาขาจุลชีววิทยาประยุกต์ กองวิจัยโรคพืช กรมวิชาการเกษตร เมื่อปี 2519 โดยมีท่านอาจารย์พันธุ์ทวี ภักดีดินแดน เป็นหัวหน้าสาขา ดร.ฤกษ์ ศยามานนท์ เป็นผู้อำนวยการกอง ดร.ประกอบ กาญจนศูนย์ เป็นอธิบดีกรม ช่วงที่ผมเป็นลูกจ้างชั่วคราวอยู่นั้น ผมได้แสดงฝีมือการทำงานด้วยการผลักดันให้นำเอาผลงานของสาขาจุลชีววิทยาประยุกต์ ที่ทำการศึกษาและวิจัย บุกเบิกเรื่องเห้ดมาตั้งแต่ปี 2489

สมัยที่ท่านอาจารย์ก่าน ชลวิจารณ์ เป็นหัวหน้ากอง แต่ไม่เคยนำเอาผลงานออกไปสู่เกษตรกรโดยตรง ผมจึงเป็นคนแรกที่ผลักดันเรื่องนี้ ด้วยการเปิดอบรมให้แก่ผู้สนใจเรื่องเห็ด เข้ารับการอบรมฟรีจากหน่อยงานนี้ จนเป็นเหตุให้ประเทศไทยของเรา กลายเป็นประเทศที่เจริญก้าวหน้าในเรื่องการเพาะเห็ดไม่แพ้ประเทศใดในโลก แต่เนื่องจาก ผมจบมาทางสาขาพืชไร่-นา ขณะที่สาขาที่ผมทำงานนั้น ต้องจบจากภาควิชาโรคพืชหรือจุลชีววิทยาเท่านั้น แต่ด้วยผลงานโดดเด่นมากของผมตอนนั้น ท่านอาจาย์พันธุ์ทวี ภักดีดินแดน จึงได้ปรึกษากับผู้อำนวยการกอง ที่จะขอบรรจุผลให้ทำงานเป็นข้าราชการในสาขานี้ แต่ก็ถูกปฏิเสธ จากท่านผู้อำนวยการกอง คือ ท่านอาจารย์ ดร.ฤกษ์ แถมท่านยังตวาดใส่อีกว่า อาจารย์พันธุ์ทวี หาเรื่องเข้าตัว ทำเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะผมจบมาคนละสาขา อีกประการหนึ่ง ท่านบอกว่า ผมคงทำงานอยู่ได้ไม่นานแล้วก็ไปๆเหมือนคนอื่นเขา คำสบประมาทนี้แหละครับ ที่ทำให้ผมอยู่สู้ต่อ ผมจึงจัดการอบรมขยายวงกว้างขึ้น ไปสอนนายทหารที่ค่ายกาวิละ ที่เชียงใหม่ โดยไม่มีใครเชื่อครับว่า ในวันที่สามที่สอนให้แก่นายทหาร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระปรมินทรมหาอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เสด็จมาทอดพระเนตรกิจกรรมการอบรมเห็ดให้แก่ทหารเป็นการส่วนพระองค์


จากนั้นผมก็ดำเนินการต่อในการตั้งสมาคมเห็ด โดยผมเริ่มตั้งชมรมผู้เพาะเห็ดแห่งประเทศไทยขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2516 แล้วมาตั้งสมาคมเห็ดสำเร็จเมื่อต้นปี 2520 โดยมีคุณหมอ พล.ต.ต นพ.ชูชาติ อุตโรทัยและอาจารย์วิรัช อินทรชูโตช่วยวิ่งเต้นดำเนินการในการก่อตั้ง จนสำเร็จโดยใช้ชื่อว่า “สมาคมนักวิจัยและเพาะเห็ดแห่งประเทศไทย” โดยกราบบังคมทูลสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นประธานเปิดป้ายสมาคมเมื่อปี 2521 ด้วยการเชิญท่านอาจารย์ ดร.ฤกษ์ ศยามานนท์ เป็นนายกสมาคมคนแรก ผมเป็นเลขาธิการสมาคมคนแรกเช่นกันและสมัครเป็นสมาชิกตลอดชีพลำดับที่ 2 (ตอนหลังคณะผู้บริหารสมาคม ลืมชื่อผมไปเลย ทั้งๆที่เป็นสมาชิกตลอดชีพ) จากนั้นไม่นานสมเด็จพระพี่นางได้เสด็จมาทรงเยี่ยมกิจการของสมาคม ตามด้วยเจ้าฟ้าหญิงแอนด์ จากประเทศอังกฤษด้วย
 


ด้วยสายสัมพันธ์เดิม ที่ผมเคยเขียนหนังสือพิมพ์ไทยรัฐในคอลัมภ์ “หากินบนผืนแผ่นดินไทย” และเคยออกรายการทีวีช่อง 5 เป็นประจำในรายการ “ชีวิตกับธรรมชาติ” ผมจึงได้ติดต่อกับสื่อต่างๆ เชิญให้ท่านดร.ฤกษ์ มาออกทีวี มาให้สัมภาษณ์เรื่องเห็ด โดยผมอยู่เบื้องหลังในการเขียนสคลิปให้แก่ท่าน เมื่อท่านได้เห็นศักยะและการตั้งใจทำงานของผม ท่านจึงไปพบกับท่านอธิบดีกรมวิชาการเกษตร คือ ดร.ประกอบ กาญจนศูนย์ ให้หาทางบรรจุผมเป็นข้าราชการประจำ ซึ่งท่านอธิบดีไม่ขัดข้อง แต่ก็ไม่สามารถทำได้ ยกเว้นจะมีคำสั่งมาจากท่าน รมต.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สมัยนั้นก็คือ คุณหลวงอินทรีย์ จันทรสถิตย์ โดยท่านอาจารย์พันธุ์ทวี ภักดีดินแดนเป็นผู้ติดต่อประสานงานกับคุณหลวง แล้วพาผมไปกราบพบท่านที่บ้านที่ดินแดง จนกระทั่งท่านอนุมัติตำแหน่งพิเศษให้สำหรับผมโดยตรงคือ ตำแหน่ง “นักวิชาการโรคพืช(ทั่วไป)” เพื่อจะสามารถรับคนที่ไม่จำเป็นต้องจบสาขาโรคพืชหรือจุลชีววิทยาเท่านั้น ในตำแหน่งนี้ถูกกำหนดว่า หากผมลาออก หรือตายไปในช่วงรับตำแหน่ง ตำแหน่งนี้ ถือว่า สิ้นสุด นี่แหละครับ ชีวิตของผมได้อะไรมา ไม่ได้มาชนิดที่เขาเรียกว่า “โรยด้วยดอกกุหลาบ” เหมือนคนอื่นเขาเลย ครับเมื่อผมได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการประจำงานต่างๆที่สำคัญในชีวิตผม ล้วนแล้วแต่มีท่านอาจารย์พันธุ์ทวี ภักดีดินแดน และท่าน อาจารย์ ดร.ฤกษ์ ศยามานนท์ ได้ให้เกียรติมาร่วมงานหรือให้กำลังใจมาตลอด ไม่ว่า งานบวช งานแต่งงานผม ท่านทั้งสองก็มาเป็นประธานในพิธีให้ รวมทั้งไปต่างประเทศ ท่านก็พาไปดูงานเรื่องเห็ดประเทศต่างๆด้วยครับ


ครับผมเจอตัวต่อตัวเป็นๆครั้งสุดท้ายกับท่านอาจารย์ ดร.ฤกษ์ ศยามานนท์ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2555 เนื่องในโอกาสที่ทางสมาคมนักวิจัยและเพาะเห็ดแห่งประเทศไทย ได้มอบรางวัลเชิดชูเกียรติให้แก่ผม ในฐานะที่เป็นผู้ก่อตั้งสมาคมและทำคุณงามความดีให้แก่วงการเห็ด เช่นเดียวกับท่านอาจารย์ ซึ่ง ณ วันนั้น ท่านอายุได้ 84 ปีแล้ว โดยท่านบอกว่า สุขภาพของท่านไม่ค่อยดี และเริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับไต ท่านจึงถามว่า เห็ดเป็นยาที่ผมทำนั้น สามารถช่วยท่านได้ไหม ผมตอบทันทีว่าได้ และผมก็ได้ส่งเห็ดเป็นยาบำรุงสมองบำรุงไต เอ็นไซม์ให้แก่ท่าน โดยท่านก็กรุณารายงานมาว่า ร่างกายของท่านดีวันดีคืนอย่างเห็นได้ชัด จนกระทั่งเมื่อสองปีที่แล้ว ท่านป่วยกระทันหัน ติดเชื้อในกระแสเลือด ทางราชการได้นำท่านมาทางเฮลิคอปเตอร์จากพระตำหนักดอยตุงมายังโรงพยาบาลศิริราช ทันการณ์พอดี โดยเชื้อที่เข้าไปในกระแสเลือดนั้น ได้ไปทำลายอวัยวะท่านหลายส่วน เช่นที่น่อง ต้องตัดเอาเนื้อที่ตายไปออก และไตทำงานหนักมาก จนกระทั่งไตที่ไม่ค่อยดีอยู่แล้ว เลยวายไปเลย ตอนนี้ อาการของท่านดีขึ้นตามลำดับ แต่ท่านจำเป็นต้องฟอกไตสัปดาห์ละ สองครั้ง ผมดีใจเป็นอย่างยิ่งครับ ที่ท่านโทรมาหาอีกเมื่อไม่กี่วันมานี้ โดยท่านบอกว่า ท่านรอดตายมาอย่างหวุดหวิด แล้วก็คิดถึงผม อยากให้ผมส่งเห็ดเป็นยาและเอ็นไซม์ไปให้ทานอีก เพราะท่านเคยทานมาแล้ว ช่วยชีวิตท่านให้ดีขึ้นได้มาก นี่ ก็เป็นอีกความภาคภูมิใจอันหนึ่ง ที่ผมได้ตอบแทนพระคุณของท่าน ขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ครับ