เมื่อสองสามวันที่ผ่านมา ผมได้รับคำถามผ่านทางเฟสบุค ใน Inbox ซึ่งผมได้แนะนำไปว่า กรุณาโพสต์เข้าไปถามทาง Timeline จะดีกว่า เพราะสมาชิกท่านอื่นจะได้มีโอกาสได้รับรู้ไปด้วย ดีกว่าที่จะมาถามตอบกันเป็นรายบุคคล แล้วผมก็ต้องตอบซ้ำแล้วซ้ำอีก ซึ่งปกติจะไม่มีบริการเช่นนั้น เพราะผมไม่มีเวลาจริงๆ ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า ผู้ที่ภามคือ นัธทวัฒน์ ฟาร์มเห็ด ไม่สามารถโพสต์เข้าไปใน Timeline ได้ เพราะไม่ได้เป็นสมาชิกเฟสผม เนื่องจากเฟสเต็ม ผมก็เลยบอกว่า ไม่เป็นไร สำหรับท่านที่สนใจเรื่องเห็ดจริงๆ ก็ขอให้บอกมา ผมยังมีที่สำรองให้เป็นสมาชิกได้อีกบ้าง หลังจากนั้น ทาง นัธทวัฒน์ ฟาร์มเห็ดก็ได้โพสต์ลงใน Timeline หลายครั้ง ดังนี้ครับ … อาจารย์คับ ผมขอสอบถามหน่อยคับ ว่าราเขียวจะกำจัด หรือให้เป็นน้อยที่สุด มีวิธียังไงคับ ขอบคุณล่วงหน้าครับ … แล้วพอผมว่างที่จะเข้าไปตอบ ปรากฏว่า หาคำถามไม่เจอ ก็เลยเอาคำถามจาก Inbox มาตอบในเวป www.anonbiotec.net ครับ ซึ่งเป็นเวปที่เปิดใหม่ ที่เปิดกว้างให้ ท่านที่สนใจเรื่องเห็ดเข้าไปดูได้ และสามารถสมัครเป็นสมาชิกได้ ท่านใดสนใจก็เชิญได้เลย ที่เวปดังกล่าวนี้
สำหรับคำตอบเรื่อง ราเขียวเกิดขึ้น หลังจากที่ทำการเปิดดอกก้อนเชื้อไปแล้ว และดอกเห็ดเกิดขึ้นแล้วหนึ่งรุ่นนั้น จริงๆแล้ว ผมได้ตอบปัญหานี้มาโดยตลอดนับสิบปีครับ สาเหตุ เกิดจากวัสดุเพาะ ที่ยังมีก๊าซแอมโมเนีย หรือเกลือแอมโมเนียมเหลืออยู่ในวัสดุเพาะครับ นี่คือ ปัญหาโลกแตกสำหรับผู้เพาะเห็ด ที่ยังไม่เข้าใจในเรื่อง การเตรียมวัสดุเพาะเห็ดครับ ส่วนใหญ่คิดแต่ว่า มีขี้เลื่อย ก็เอาขี้เลื่อยมากอง คิดอยากจะเพาะเห็ดเมื่อไหร่ ก็เอาขี้เลื่อยมาผสมกับอาหารเสริมเลยครับ บางรายก็จะดีหน่อย พอได้ขี้เลื่อยมา ก็จะปล่อยกองไว้สักพัก แล้วค่อยเอามาเพาะเห็ด หรือบางราย ก็ยังดีเข้าไปอีกนิด กล่าวคือ พอผสมอาหารเสริมเข้าไปแล้ว หมักเป็นกองเอาไว้ข้ามคืนแล้วจึงจะนำเอาไปบรรจุก้อน หากโชคดี ก็โอเค อาจจะทำได้โดยอาจจะไม่เกิดปัญหาใดๆ จนผู้เพาะเห็ดส่วนใหญย่ามใจว่า การเพาะเห็ดมันง่ายเหลือเกิน แค่เอาวัสดุเพาะมาใส่อาหารเสริม และบรรจุถุง นึ่งเขี่ยเชื้อ บ่มเชื้อ พอเชื้อเต็มแล้ว ก็เอาไปเปิดดอก ใช่ครับ มันอาจจะง่ายมาก สำหรับท่านที่เพิ่งทำ หรือทำเพียงนิดเดียว ซึ่งวัสดุเพาะ อาจจะยังไม่มีก๊าซหรือเกลือแอมโมเนียมสะสมอยู่ แต่ในกรณีที่ทำเป็นฟาร์มขนาดใหญ่ และผลิตก้อนเชื้อครั้งละเยอะๆ การที่เอาวัสดุเพาะมากองไว้เฉยๆ โดยไม่ได้นำเข้าสู่กรรมวิธีหมักที่ถูกต้อง นั่นเองครับคือ หนทางไปสู่ความหายนะ นั่นเองครับ คือ สาเหตุของราเขีย ราดำ ราส้มที่จะเกิดขึ้นได้ทุกขั้นตอน

ดังนั้น สิ่งที่ นัธทวัฒน์ ฟาร์มเห็ดถามมาว่า ราเขียวที่เกิดขึ้นหลังจากเปิดดอกและเก็บดอกครั้งแรกแล้วจะแก้ปัญหาได้อย่างไร คำตอบก็คือ ไม่สามารถแก้ปัญหาก้อนที่เกิดราเขียวได้เลยครับ มีวิธีป้องกันไม่ให้เกิดได้เท่านั้น นั่นก็คือ ก่อน ที่จะเอาวัสดุเพาะ มาทำการเพาะนั้น จะต้องนำเอาวัสดุเพาะมาทำการหมักแบบเร่งรัดเสียก่อน คำว่า หมักแบบเร่งรัด คือ หมักอย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันไม่ให้สารอาหารบางอย่างเช่น พลังงานสลายไปมากเกินไป และทำให้ธาตุไนโตรเจนที่อยู่ในรูปก๊าซหรือเกลือ เปลี่ยนรูปไปเป็นโปรตีนในเชื้อจุลินทรีย์ คำถามต่อไป คือ หมักแบบเร่งรัดทำไงล่ะ ง่ายนิดเดียวครับ ให้เอาวัสดุเพาะมาผสมกับอาหารเสริมไปตามสูตร นำมาผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน เพิ่มความชื้นให้ได้ประมาณ 60-65% ใช้เชื้อจุลินทรีย์สำหรับหมักที่เรียกว่า ไบโอวันผสมน้ำ(ไบโอวัน 1 ลิตร ผสมน้ำ 200 ลิตร) แล้วนำมากองให้สูงไม่เกิน 50 ซม. โดยกลับกองทุกวัน โดยแต่ละวัน ความสูงของกองให้ลดลงวันละ 5-10 ซม. แค่ประมาณ 4-5 วันวัสดุเพาะ จะมีกลิ่นหอม สามารถนำเอาไปเพาะเห้ดได้ทุกชนิด หากยังไม่ใช้ ให้ผึ่งให้แห้ง สามรถเก็บได้นานเป็นปี หากคุณทำได้เช่นนี้ รับรองว่า ปัญหาราเขียว ราอะไรก็แล้วแต่ จะไม่เกิดเลย แม้กระทั่ง นำมาใส่ก้อน ทิ้งไว้โดยไม่นึ่งหลายวันก็ยังได้ครับ ทั้งหมดคือ คำตอบสำหรับ นัธทวัฒน์ ฟาร์มเห็ด ที่ถามมาสั้นๆ แต่ผมต้องตอบยาวๆ เพื่อที่จะให้ท่านอื่นที่มีปัญหาทำนองเดียวกันได้ทราบโดยทั่วกัน

อย่างไรก็แล้ว แต่ ในการอบรมเห็ดเศรษฐกิจแนวใหม่ ที่จะมีขึ้นในวันเสาร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2560 นี้ จะเน้นเรื่องนี้เป็นสำคัญ นอกเหนือจากที่จะเน้นเป็นพิเศษในการอบรม คือ ปลูกต้นไม้เพื่อเพาะเห็ดเองครับ ท่านที่สนใจเรื่องการอบรม สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ 029083308, 0860830202 line: mushroom10 และในวันเสาร์ที่ 11 มีนาคม 2560 จะเปิดอบรม เรื่อง เห็ดเป็นยา อีกด้วยครับ

[envira-gallery id=”1097″]