[envira-gallery id=”1037″]

ผมได้รับสัญญานจากคุณหมอ นพ.อิสระ  เจียวิริยบุญญา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็ง ส่งข้อความมาทาง Inbox ของผมว่า ปีนี้ จะต้องเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงและก้าวหน้าของพวกเรา ผมก็ได้นำเอามาคิด เอามาไตร่ตรองว่า แล้วผมจะเอามาอะไรที่จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในวงการเห็ดไทย ให้ไปในแนวทางที่ดี ผมจึงกลับมาหวนคิดถึงอดีต ที่ผมเริ่มเข้าสู่วงการเห็ดใหม่ๆ เมื่อปี 2516 ไม่รวมกับที่ทางบ้าน ที่จังหวัดแพร่ ก็มีอาชีพเพาะเห็ดโคนน้อยและเห็ดฟางตั้งแต่ผมพอจำความได้(พูดง่ายๆว่า ครอบครัวผม เขาเพาะเห็ดมาก่อนที่ผมเกิด)

ช่วงนั้น เกษตรกรบางพื้นที่เท่านั้น ที่ทำการเพาะเห็ดฟางแบบกองสูง เช่น แถวภาชี จังหวัดอยุธยา แถวคลองโอ่งแตก อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ แถวคลองมะเดื่อ อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดนครปฐม เป็นต้น ต่อมาได้มีการพัฒนาเป็นแบบกองเตี้ย โดยท่านอาจารย์ทองยศ  เอนกเวียง แล้วในปี 2517 ผมก็ได้เปลี่ยนโฉมการเพาะเห็ดฟาง ที่ต้องเพาะบนพื้นดิน ที่ไม่สามารถเพาะซ้ำที่เดิมได้ เพราะมีการสะสมเชื้อโรค เปลี่ยนเอามาเป็นเพาะในโรงเรือน ที่สามารถเพาะได้ตลอดทั้งปี ตราบทุกวันนี้ ขณะเดียวกัน ในปี 2516 ได้มีการรับเอาเทคนิคการเพาะเห็ดชนิดอื่น เช่น เห็ดนางรม เห็ดหูหนู เห็ดเป๋าฮื้อ ด้วยการเพาะในขวด ตอนหลังดัดแปลงมาเพาะในถุงโดยผู้ริเริ่มครั้งแรกคือ ท่านอาจารย์พันธุ์ทวี ภักดีดินแดน

ต่อมาท่านอาจารย์ดีพร้อม  ไชยวงศ์เกียรติและผม ได้นำมาเพาะในถุงพลาสติก โดยต่อมาได้รับความรู้เพิ่มเติม การเพาะเห็ดเป๋าฮื้อในถุงจากประเทศไต้หวัน ผ่านทางบริษัทอาหารสากล ที่ลำปาง นี่คือ ลำดับเหตุการณ์ทั้งหมด ของการเปลี่ยนแปลงวิธีการเพาะเห็ดของประเทศไทยอย่างมาก แต่จากนั้นมา จนถึงปัจจุบัน แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาอะไรเลย เมื่อปี 2516 ทำการเพาะเห็ดในถุง โดยใช้ขี้เลื่อยไม้ยางพาราหรือไม้เนื้ออ่อนบางชนิดเช่นไร ปัจจุบันก็ยังทำกันเหมือนเดิม ขณะที่ปัจจัยการผลิตแทบทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปหมด ไม่ว่าจะเป็นวัสดุเพาะที่หายาก มีราคาแพง อุปกรณ์ เช่น ราคาถุงพลาสติก เชื้อเพลิงและแรงงานก็สูงขึ้นหลายเท่าตัว ขณะที่ราคาสูงขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ประกอบกับมีผู้เพาะเห็ดกลับมากยิ่งขึ้น บางพื้นที่ บางแห่งเริ่มมีปัญหาในการเพาะ ที่ไม่สามารถหาวัสดุเพาะได้ หรือขาดแคลนแรงงานที่จะต้องมาบรรจุถุงเล็กๆที่ถือปฏิบัติกันมา ครับนี่คือ ภารกิจอันยิ่งใหญ่อีกชิ้นหนึ่งที่สำคัญในชีวิตผมและขณะที่ผมยังมีชีวิตอยู่ เพราะผมถือว่า ผมเป็นผู้มีส่วนที่ทำให้วงการเห็ดไทยเกิดขึ้น แต่การพัฒนาต่อมาแทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย

ดังนั้น ทีแรก ผมวางแผนไว้ว่า ผมและลูกสาวกำลังจะเดินทางไปประเทศมัลดีฟอีก เพื่อไปบริหารจัดการเรื่องโครงการเพาะเห็ดและปลูกพืชผักต่อที่ประเทศมัลดีฟ ที่กำลังดำเนินการอยู่แล้วทั้งสองเกาะต่อ แต่วันนี้ 3 กุมภาพันธ์ 2561 เป็นวันที่ผมและคณะ ประกอบด้วย ศาสตราจารย์ ดร.ภูษณ ปรีย์มาโนช, คุณหมอ พญ.ปนัดดา พรศิริรุ่ง, ดร. ดนัย ทิวาเวช, นพ.วิชัย ชัยจิตวณิชกุล และ คุณสุเทพ ธีรศาสตร์ เพื่อปรึกษาหารือเรื่อง การจัดเสวนาเห็ดเป็นยาประชารัฐ ร่วมกับมูลนิธิโรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี ในวันพฤหัสบดีที่ 15 มีนาคม 2561 ซึ่งจะเป็นการเปิดตัวผลิตภัณฑ์เห็ดเป็นยาของอานนท์ไบโอเทค ที่ได้รับใบอนุญาตจากคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)แล้ว โดยนัดกับคุณหมอนพ.อิสระ เจียวิริยบุญญา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี ที่ โรงพยาบาลบ่ายวันนี้


ส่วนเรื่องการอบรมเห็ด จากนี้เป็นต้นไป ก็จะมีการทบทวนระบบการเพาะใหม่ทั้งหมด โดยผมจะทำโครงการนำร่องที่ฟาร์มของอานนท์ไบโอเทค ที่ลพบุรี บนพื้นที่ 200 ไร่ ให้เป็นรูปธรรมเสียก่อน แล้วจึงจะเปิดอบรมการเพาะเห็ดแนวใหม่ที่นั่นทั้งระบบครับ

ปัจจุบันนี้ เช่น เห็ดนางฟ้าภูฎาน เห็ดนางรม เห็ดขอนขาว เห็ดลม เห็ดเป๋าฮื้อ เห็ดโคนญี่ปุ่น เห็ดหลินจือ เห็ดหอม เห็ดหิมาลัย เป็นต้น โดยจะมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในเรื่องของวัสดุเพาะ แทนที่จะใช้หรือผูกติดอยู่กับขี้เลื่อยไม้ยางพาราหรือไม้เนื้ออ่อนเพียงไม่กี่ชนิด เปลี่ยนไปไม้หรือเศษซากพืชอะไรก็ได้ และแทนที่จะบดให้ละเอียดเป็นขี้เลื่อย ก็นำมาสับด้วยเครื่องมือง่ายๆ ราคาไม่แพง ผลิตได้ในประเทศไทย เช่นเดียวกัน การนำเอาวัสดุมาเพาะเห็ดนั้น มีทางเลือกอย่างอื่นที่พึงปฏิบัติได้อีกหลายวิธี เช่น เพาะในกระบะ ในกล่อง ในถุงที่ใช้แล้ว การนึ่งฆ่าเชื้อ ก็จะเน้นเรื่องของการสิ้นเปลืองพลังงานให้น้อยที่สุด การใช้หรือใส่อาหารเสริมให้แก่เห็ด เน้นใส่เข้าไปเฉพาะสิ่งที่เห็ดต้องการ โดยอาศัยเทคโนโลยี่ชีวภาพเข้าช่วย การบ่มเชื้อและการเปิดดอกในห้องควบคุมแบบง่ายๆและเหมาะสมกับบรรยากาศของประเทศไทย ครับ จึงถือว่า การอบรมครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้น ที่จะพลิกประวัติศาสตร์วงการเห็ดของไทยครั้งยิ่งใหญ่

ท่านที่สนใจ สามารถรีบจองที่นั่งหรือติดต่อสอบถามได้ที่ สนใจติดต่อสอบถามได้ที่ 029083308, 0860830202, 0858270085 line :mushcare หรือ mushroom10

[envira-gallery id=”1036″]