เมื่อวันอังคารที่ 4 กรกฏาคม 2560 ผมได้มีโอกาสพาศิษย์เก่า ที่เคยมาเรียนเห็ดกับผมเมื่อปี 2518 จากนั้นก็ไม่เจอกันอีกกว่าสี่สิบปี มาเจอกันอีกที ก็ทราบว่า เขียนนวนิยายฉบับสมบูรณ์เล่มใหญ่ไปกว่าร้อยเล่มแล้วในนามปากกา “ช่อลัดา”

เจอกันคราวนี้ ท่านอยากรื้อฟื้นความจำและความก้าวหน้าเรื่องเห็ด เมื่อเทียบกับสี่สิบกว่าปีที่แล้ว ผมน่ะคิดอยู่ตั้งนานว่า จะพาไปดูฟาร์มเห็ดที่ไหน ที่มีการพัฒนามากไปกว่าปี 2518 เล่า คิดมาตั้งนาน ก็ลงเอยว่า ฟาร์มเห้ดภูผาที่หนองม่วง ลพบุรี ที่ห่างจากฟาร์มผมแค่สามสิบกว่ากิโลเมตรเอง เมื่อตกลงปลงใจกันแล้วว่า จะไปอย่างไรที่ไหน เมื่อไหร่

แล้ว ผมก็เชิญชวนผู้สนใจร่วมเดินทางไปด้วย ก็มีเพื่อนอาจารย์แม่ ที่กำลังพักฟื้นจากอาการป่วยด้วยการทานเห็ดเป็นยาควบคู่กับการรักษาแผนปัจจุบัน คือ คุณเลิศศักดิ์และคุณพรทิพย์ จรรยาเพศ และก็มีวิศวกร รุ่นน้อง KU34 และภรรยาเดินทางร่วมไปด้วย เราออกเดินทางจากอานนท์ไบโอเทคประมาณ 9.19 น.ไปทางสระบุรี มุ่งหน้าไปลพบุรี เลี้ยวเข้าทางหลวงหมายเลข 21 ไปเพชรบูรณ์ โดยแวะที่วัดพรมรังษี ตรงหลัก กม.ที่ 21 เพื่อไปกราบนมัสการหลวงปู่ทองหล่อ ที่ท่านมีเมตตามอบต้นข่อยดำให้ผมมาขยายต่อ เพื่อใช้เป็นยารักษาโรคเบาหวาน ผมและอาจารย์แม่ได้นำทั้งกาแฟเห็ด เห็ดเป็นยา ชาข่อยดำผสมเห็ดและน้ำมันกำยาน แล้วท่านก็บอกสูตรสมุนไพรที่ใช้รักษาโรคไตวายเพิ่มให้อีก เพราะท่านเห็นผมพาผู้ป่วยไตวาย คือ คุณเลิศศักดิ์ไปด้วย

[envira-gallery id=”5254″]

จากนั้น คณะของเรา ก็เดินทางต่อไปอีกไม่ไกล เพื่อไปยังวัดเทพชัยมงคล ซึ่งเป็นวัดที่ส่งบุคลากรรวมทั้งพระที่ดูแลโครงการเพาะเห็ดมาอบรมเห็ดกับอานนท์ไบโอเทค และเป็นวัดที่ทางอานนท์ไบโอเทค ได้นำเอาผลิตภัณฑ์ทั้งเห้ดเป็นยาและจุลินทรีย์ และต้นไม้หายากไปมอบ ไปถวายแด่เจ้าอาวาสและศรัทธาของวัด ท่านเจ้าอาวาสและโยมอุปฐากทราบเรื่องว่า คณะเล็กของเราจะแวะไปหา เลยจัดอาหารกลางวันไว้ต้อนรับ พร้อมทั้งกำชับไว้ว่า ห้ามไปทานอาหารที่ไหน เพราะทางวัดได้จัดเตรียมไว้ด้วยใจจริงๆ ครับ นับว่าเป็นทั้งบุญและลาภปากที่ได้แวะทานอาหารกลางวันพร้อมทั้งได้สนทนาปราศรัยในบรรยากาศที่อบอุ่นยิ่ง ดั่งได้รับน้ำทิพย์น้ำมนต์อันทรงพลังในการขับเคลื่อน เพื่อเราจะได้มุ่งมั่นทำให้สิ่งที่หวังตั้งใจ เวลาช่างสั้นเหลือเกิน เพราะเราจะต้องไปยังจุดมุ่งหมายอีกหลายแห่ง จึงกราบลาป้าติ๋มและท่านเจ้าอาวาสและคณะที่ให้การต้อนรับต่อไปยังอุทยานอานนท์ไบโอเทค แต่ก่อนจะถึงอุทยานอานนท์ไบโอเทค ได้พาคณะแวะดูวิวและบรรยากาศจากที่สูงของสนามกอล์ฟนารายน์ฮิลล์ ที่สามารถมองเห็นพื้นที่ตั้งของอานนท์ไบโอเทคได้ชัดเจน

[envira-gallery id=”5255″]

คณะของเราไปถึงอุทยานอานนท์ไบโอเทค คราวนี้ พอจะพูดได้เต็มปากว่า สถานที่จากที่ปลูกอะไรไม่ได้เลย เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นหินดาน(ไม่ใช่ดินดาน แต่เป็นหินคักๆ) แต่หลังจากขุดพลิกฟื้นหน้าดิน ขุดบ่อเก็บกักน้ำมาได้กว่าสามปีแล้ว ปีนี้ ดูเหมือนต้นไม้เริ่มงอกงามเป็นสีเขียวร่มรื่นตระการตาแล้ว ผมได้ขับรถพาคณะตะเวนรอบพื้นที่คร่าวๆ เพราะที่ใหญ่มาก ไม่สามารถที่จะพาไปทุกจุดได้ในระยะเวลาอันจำกัด อีกประการหนึ่ง เรามีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนว่า จะต้องไปยังฟาร์มเห็ดภูผาให้ทันเวลาก่อนที่เจ้าของจะเอาเห็ดไปส่งที่สี่มุมเมือง

[envira-gallery id=”5256″]

จากอุทยานอานนท์ไบโอเทค ผมก็พาคณะเดินทางไปยังอำเภอหนองม่วง เพื่อไปดูกิจกรรมการเพาะเห็ดระบบปิดของฟาร์มเห็ดภูผา และพวกเราตื่นตาตื่นใจ ในความสำเร็จของการเพาะเห็ดระบบปิด ที่ค่อนข้างสมบูรณ์และเป็นเยี่ยงอย่างที่ดี ขณะเดียวกัน วิศวกรที่เดินทางสมทบไปด้วย ก็ได้แนะนำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่เจ้าของฟาร์มภูผาคือ คุณไนท์ว่า จากการที่ต้องใช้เงินจ่ายค่าไฟฟ้าเดือนละเกือบแสนบาท น่าจะนำเอาระบบพลังงานแสงอาทิตย์เอามาใช้ลดค่าใช้จ่ายลงประมาณสัก 30% โดยไม่ได้ไปรบกวนอะไรกับการไฟฟ้า และไม่ต้องลงทุนเอง เพราะกลุ่มบริษัทวิศวกรจะเป็นผู้ลงทุนให้ 20% ที่เหลือทางไฟแนนซ์จะเข้ามาช่วย โดยแทนที่จะจ่ายเงินค่าพลังงานให้การไฟฟ้า ก็เอาเงินที่จะจ่ายนั้น จ่ายให้กับไฟแนนซ์ใช้เวลาไม่เกินหกปี ระบบทั้งหมดก็จะเป็นของเรา ซึ่งระบบนี้ ใช้ได้นานอย่างน้อย 20 ปี

[envira-gallery id=”5257″]

ครับการไปดูงานครั้งนี้ ได้รักษาเวลาได้อย่างดีเยี่ยม พวกเรากลับมาถึงอานนท์ไบโอเทคประมาณหกโมงกว่า จึงพากันไปทานอาหารที่ร้านอำไพ ที่เป็นอาหารจีนที่อร่อยที่สุดและถูกที่สุดในโลก กันอย่างอิ่มหนำสำราญ มีความสุขและได้ความรู้กันอย่างเต็มอกเต็มใจและพากภูมิใจครับ

[envira-gallery id=”5258″]

ใส่ความเห็น