ความมหัศจรรย์ของเอ็นไซม์
ดร.อานนท์ เอื้อตระกูล
เอ็นไซม์ คือ อะไร
เป็นที่ทราบกันดีว่า วิตามินและแร่ธาตุ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการมีสุขภาพดี และสมุน ไพรก็มีความสำคัญเป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวาง แต่สำหรับเอ็นไซม์นั้น ได้มีการศึกษาในแง่ชีวเคมีกันมาช้านาน แต่ความรู้เกี่ยวกับการใช้เอ็นไซม์เป็นอาหารเสริมหรือใช้ในการบำบัดโรคยังไม่แพร่หลาย เอ็นไซม์เป็นสารกลุ่มโปรตีน ที่ร่างกายได้รับจากการรับประทานอาหารและสร้างขึ้นเอง โดยเอ็นไซม์เหล่านี้มีอยู่ก่อนที่ร่างกายจะมีปฏิกิริยาใดๆเกิดขึ้น แม้กระทั่งวิตามิน แร่ธาตุหรือฮอร์โมน ก็ไม่สามารถทำงานได้หากไม่มีเอ็นไซม์ เอ็นไซม์มีขนาดเล็กมากจนไม่สามารถมองเห็นได้ แม้ใช้กล้องจุลทรรศน์ที่มีกำลังขยายสูงสุดก็ตาม เอ็นไซม์ทำหน้าที่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา เป็นพลังแห่งการขับเคลื่อน ที่ทำให้ร่างกายของเราสามารถทำงานต่างๆได้และมีสุขภาพดี หรืออาจจะกล่าวได้ว่า เราไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้หากขาดเอนไซม์
ในที่นี้จะขอกล่าวถึง “เอ็นไซม์ที่ได้จากจุลินทรีย์” เป็นหลัก โดยขบวนการย่อยอาหารของคนเรานั้น ต้องใช้เอ็นไซม์หลัก 4 ชนิด และเอ็นไซม์เสริม 3 ชนิด ดังนี้ เอ็นไซม์อะไมเลส ย่อยอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรตและแป้ง (เช่น ข้าว ขนมปัง ผักและผลไม้) การย่อยอาหารที่ไม่สมบูรณ์จะทำให้เกิดภาวะเหมือนการหมักแป้งในท้องของเรา จะทำให้เกิดแก๊สและมีอาการไม่สบายต่างๆ ส่วนเอ็นไซม์โปรตีเอส จะย่อยอาหารกลุ่มโปรตีน (เช่นเนื้อสัตว์ต่างๆ ไก่ ปลา ถั่ว) หากการย่อยไม่ดีโปรตีนจะเน่า ท้องอืด ท้องเฟ้อ และเป็นพิษต่อร่างกาย, เอ็นไซม์ไลเปส มีหน้าที่ย่อยสลายไขมันและช่วยรักษาสมดุลย์กรดไขมันในร่างกาย ไขมันที่ไม่ถูกย่อยจะเหม็นหืน เหม็นเปรี้ยว และปริมาณโคเลสเตอรอลเสียสมดุลย์ เอ็นไซม์เซลลูเลส ย่อยสลายเซลลูโลส(เป็นไฟเบอร์ที่พบในผักต่างๆ) โดยปกติแล้วร่างกายเราไม่สามารถผลิตเอ็นไซม์เซลลูโลสได้เอง ดังนั้นไฟเบอร์หรือเส้นใยสังเคราะห์ ที่บางท่านใช้ล้างลำไส้แทนการรับประทานผัก ผลไม้สดนั้น มักจะทำให้เกิดปัญหากับลำไส้มากกว่า เพราะไฟเบอร์ที่ตกค้างจะกลายเป็นไขเคลือบผนังลำไส้เล็ก ทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับการดูดซึมอาหารตามมา เอ็นไซม์อีกชนิดหนึ่งที่รู้จักกันดีคือ เอ็นไซม์แลคเตส มีหน้าที่ย่อยน้ำตาลแลคโตสในน้ำนม หากร่างกายไม่มีเอ็นไซม์นี้ ก็จะทำให้เกิดอาการไม่ย่อย นอกจากนี้ ผลิตภัณท์ที่ทำจากนม ก็อาจทำให้เกิดภูมิแพ้ได้ และยังมีเอ็นไซม์อีก 2 ชนิดที่ช่วยย่อยน้ำตาลในอาหารคือ เอ็นไซม์ซูเครส และ เอ็นไซม์มอลเตส
แหล่งผลิตเอ็นไซม์
เอ็นไซม์ที่ใช้ในขบวนการเผาผลาญพลังงาน จะสร้างขึ้นในร่างกาย ซึ่งมีความสำคัญกับทุกขั้นตอนของการย่อยอาหาร อายุที่มากขึ้นและความเครียด มีผลให้การสร้างเอ็นไซม์เหล่านี้ลดลง ส่วนเอ็นไซม์จากอาหาร เช่น ผัก ผลไม้ จะคงความสามารถในการย่อยอาหาร ก็ต่อเมื่อยังไม่ผ่านการปรุงให้สุกเท่านั้น ตัวอย่างของการทำงานของเอ็นไซม์ที่เห็นได้ชัดเช่น การทำกล้วยให้สุกเร็วนั้น สามารถทำได้ด้วยการนำเอากล้วยดิบมาบ่มด้วยเอ็นไซม์เพียงเล็กน้อย เช่น นำเอาเอ็นไซม์ที่มีอยู่ในเปลือกกล้วยที่สุกแล้ว ด้วยการนำเอาเศษเปลือกกล้วยสุกสักชิ้นเดียว เอามาใส่ในกล้วยดิบที่บรรจุอยู่ในภาชนะปิด ในระยะเวลาอันสั้นเท่านั้น จะสามารถทำให้กล้วยสุกเร็วขึ้น อ่อนนุ่มและมีรสหวาน แหล่งที่มาอันมหัศจรรย์อีกแห่งของเอ็นไซม์ก็คือ เอ็นไซม์เสริมเพื่อช่วยย่อยอาหาร เอ็นไซม์เหล่านี้สกัดจากเอ็นไซม์ในพืช สัตว์ และจุลินทรีย์ เนื่องจากการผลิตเอ็นไซม์ ไม่สามารถทำได้เหมือนการสังเคราะห์วิตามินและแร่ธาตุ เราจึงต้องผ่านขบวนการสกัดในห้องปฏิบัติการ เอ็นไซม์เสริมเพื่อช่วยย่อยอาหาร รับประทานไปพร้อมกับอาหารเพื่อช่วยย่อยโดยเฉพาะในมื้ออาหารนั้นๆ จะเป็นการช่วยย่อยทั้งระบบ ตั้งแต่หลอดอาหาร ถึงลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย เอ็นไซม์อื่นๆที่บริโภคได้เป็นเอ็นไซม์จากสัตว์ เช่น เอ็นไซม์แพนเครียติน ได้มาจากตับอ่อนของหมูและวัว (ถูกฆ่าเพื่อชำแหละเนื้อ) เอ็นไซม์แพนเครียติน จะทำงานได้ในภาวะที่เป็นด่าง ดังนั้น มันจะเริ่มทำงานในส่วนของลำไส้เล็ก ที่มีสภาวะเหมาะสมกับการย่อยไขมัน นอกจากนี้ ยังมีเอ็นไซม์เฉพาะอีก 3 ชนิด ได้แก่ เอ็นไซม์บรอมเมลเลนในต้นสัปปะรด เอ็นไซม์ปาเปนในมะละกอ ที่สามารถใช้ทำให้เนื้อนุ่มและเป็นส่วนผสมในเบียร์ เอ็นไซม์เปปซิน ที่มีอยู่ในกระเพาะหมู มีคุณสมบัติในการย่อยโปรตีนในกระเพาะอาหาร และจะทำงานในสภาวะที่เป็นกรดเท่านั้น เอ็นไซม์ที่ได้จากการหมักของจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ รวมทั้งจุลินรีย์ที่ใช้ทำนมเปรี้ยวและยีสต์ ที่อยู่ในระบบทางเดินอาหาร จะช่วยระบบย่อยอาหารได้ครบถ้วนและยังช่วยเสริมการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อ จึงทำให้เอ็นไซม์กลุ่มนี้มีประโยชน์ต่อร่างกายมากกว่าเอ็นไซม์เสริมจากแหล่งอื่นๆ
ทำไมเราจึงต้องการเอ็นไซม์
เราจำเป็นที่จะต้องเสริมเอ็นไซม์เข้าไปให้แก่ร่างกาย เนื่องจาก หากเรารับประทานอาหารที่ผ่านการปรุงให้สุก ผ่านการแปรรูปในรูปแบบต่างๆ เนื่องจากเอ็นไซม์จะถูกทำลายด้วยความร้อน เช่น การต้ม การอุ่นด้วยไมโครเวฟ การหุงต้มแบบใช้แรงดัน เป็นต้น แม้กระทั่งการลวกที่อุณหภูมิสูงเกิน 45 องศาเซนติเกรด ก็จะทำให้เอ็นไซม์สูญเสียคุณสมบัติไปได้ หรือการคั้นน้ำผลไม้ด้วยเครื่อง ความร้อนที่เกิดขึ้นก็ยับยั้งการทำงานของเอ็นไซม์ได้ 80 เปอร์เซนต์ของพลังงานในร่างกาย
จะถูกใช้ไปในขบวนการย่อยอาหาร หากร่างกายอ่อนเพลีย เครียด อยู่ในสภาวะอากาศที่ร้อนหรือเย็นจัด ตั้งครรภ์ เดินทางโดยเครื่องบินบ่อยๆ ร่างกายจะต้องการเอ็นไซม์เสริมเป็นจำนวนมาก เนื่องจากระบบการทำงานทั้งหมดของร่างกาย ต้องอาศัยเอ็นไซม์ เราจึงต้องเสริมเอ็นไซม์ให้ร่างกาย อายุที่มากขึ้น ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งของการผลิตเอ็นไซม์ที่ลดลง บุคลากรทางการแพทย์กล่าวว่า การที่โรคต่างๆเกิดขึ้น ส่วนใหญ่มักจะมีสาเหตุ จากการที่ร่างกายขาดเอ็นไซม์หรือความไม่สมดุลย์ของเอ็นไซม์
อุปกรณ์ช่วยชีวิตจากธรรมชาติ
เอ็นไซม์ที่เปราะบางเหล่านี้ มีอยู่ในสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ทั้งพืชและสัตว์ ในทางทฤษฏี เอ็นไซม์ก็คือ โมเลกุลโปรตีนที่มีพลังงานสูง ร่างกายสามารถรับเอ็นไซม์ได้ 2 ทาง คือ ผลิตขึ้นเองหรือได้รับจากอาหาร แต่ปัญหาก็คือ เมื่ออายุมากขึ้น การผลิตเอ็นไซม์จะมีประสิทธิภาพลดลง ส่วนเอ็นไซม์ในอาหารจะถูกทำลายไปเสียเป็นส่วนมากในการปรุงอาหารด้วยความร้อน ผลก็คือ ถ้าหากท่านไม่ใช่เด็ก หรือหากท่านไม่สามารถรับประทานอาหารดิบโดยไม่ปรุงได้ ร่างกายของท่านจะได้รับเอ็นไซม์ไม่เพียงพอ นอกจากนี้ ร่างกายยังต้องการกรดอะมิโนที่สมดุลย์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อทดแทนการสูญเสียเอ็นไซม์ที่ใช้ในขบวนการเผาผลาญ ถ้าขบวนการย่อยอาหารไม่สมบูรณ์ ปริมาณกรดอะมิโนที่ร่างกายจะได้รับก็ลดลง ทำให้ร่างกายไม่สามารถทดแทนเอ็นไซม์ที่ใช้ในขบวนการเผาผลาญได้เพียงพอ
เอ็นไซม์ที่มหัศจรรย์เหล่านี้ทำหน้าที่สำคัญ 2 อย่างคือ ย่อยสลายสารอาหารให้เล็กลง พอที่จะผ่านเซลล์ผนังลำไส้ แล้วนำเอาสารอาหารเหล่านี้ เข้าสู่กระแสเลือดต่อไป การย่อยอาหาร เป็นหน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งของร่างกาย เมื่อเรารับประทานอาหาร เอ็นไซม์สำหรับย่อยอาหาร จะถูกดึงมาจากทุกระบบของร่างกายในทันที เพื่อทำการย่อยอาหาร แต่ทว่าเอ็นไซม์ย่อยอาหารเหล่านี้ยังมีหน้าที่อื่นๆอีก ได้แก่ การซ่อมแซม ควบคุม และกระตุ้นการทำงานของระบบอื่นๆของร่างกายอีกด้วย หากไม่มีการเสริมเอ็นไซม์เข้าไปพร้อมกับอาหารอย่างเพียงพอ กิจกรรมต่างๆของเอ็นไซม์ในร่างกาย จำเป็นจะต้องหยุดการทำงานชั่วคราว เพื่อส่งเอ็นไซม์ที่สำคัญเหล่านี้ เอาไปใช้ในระบบย่อยอาหารแทน ดังนั้น วิธีที่จะแก้ปัญหาที่จะทำให้ร่างกายไม่ต้องไปนำเอาเอ็นไซม์ที่อยู่ในระบบอื่นในร่างกายที่สำคัญกว่านำเอาไปใช้ย่อยอาหารคือ ควรรับประทานอาหารที่ไม่ผ่านการปรุงให้สุก อาหารเหล่านี้จะมีเอ็นไซม์เพียงพอที่จะย่อยตัวเองอยู่แล้ว มีอีกวิธีหนึ่งที่ได้ผลคือ รับประทานเอ็นไซม์เสริมสกัดจากจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ รวมทั้งจุลินทรีย์ที่ใช้ทำนมเปรี้ยวและยีสต์
การย่อยอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต เช่น แป้ง ผัก และผลไม้ที่ไม่สมบูรณ์ จะทำให้เกิดการหมักในลำไส้ หากเป็นอาหารกลุ่มไขมัน ผลิตภัณท์จากนม น้ำมันต่างๆที่ใช้ทอด จะเหม็นหืน ถ้าเป็นกลุ่มโปรตีน เช่น เนื้อสัตว์ ไก่ ปลา ถั่วต่างๆ ก็จะเน่า จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า คนส่วนใหญ่ในสังคมเราทุกวันนี้จะมีปัญหาเรื่องท้องผูก แก๊สในกระเพาะ ท้องอืด ท้องเฟ้อ ลมหายใจเหม็น
อีกบทบาทหนึ่งของเอ็นไซม์ คือ ช่วยรักษาระบบเผาผลาญพลังงานในร่างกาย ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด อันได้แก่ สลายไขมัน ลำเลียงอาหารเข้าสู่เซลล์ แจกจ่ายพลังงานไปยังเซลล์ที่ต้องการ ทุกกลไกของร่างกายตั้งแต่การสร้างกล้ามเนื้อ กระดูก ต่อมต่างๆ และเส้นประสาท ไปจนถึงการกำจัดพิษออกจากร่างกาย ล้วนต้องอาศัยการทำงานของเอ็นไซม์ทั้งสิ้น หรือแม้กระทั่งผิวหนังที่เปล่งปลั่ง ลำไส้ ตับ หัวใจ และสมองที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ปอด ไต และฮอร์โมนที่ทำงานอย่างเต็มที่ ต้องพึ่งพาอาศัยเอ็นไซม์ทั้งสิ้น จึงอาจกล่าวได้ว่า เอ็นไซม์เป็นอุปกรณ์ช่วยชีวิตจากธรรมชาติ
นพ. ดร. ปีเตอร์ รอทชายด์ นักวิจัยระดับโลกและได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกซ์ เขียนไว้ว่า “จากหลักฐานต่างๆแสดงถึงความสามารถของเอ็นไซม์ที่รับประทานเข้าไป ทำให้ข้อสงสัยเริ่มลดลง ผลงานหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า
“การรับประทานเอ็นไซม์ มีผลดีต่อระบบภูมิคุ้มกัน โรคข้อที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ และโรคภูมิคุ้มกันเฉียบพลันอื่นๆ”
นอกจากนี้ ยังมีนักวิทยาศาสตร์ แพทย์และนักวิจัยที่มีชื่อเสียงอีกมาก อาทิ ดร. แฟรนซ์ แบรก แห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน ดร. อาร์ เอ โฮลแมน มหาวิทยาลัยแห่งเวลส์ ศ.ดร. แวน ฟอทเทอร์ ผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านมะเร็ง มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ดร.แฮโรล แมนเนอร์ มหาวิทยาลัย โลโยลา และศ. วิลเลียม ที ซอล์ทเทอร์ โรงเรียนแพทย์เยลที่เชื่อว่าโรคเรื้อรังต่างๆ มะเร็งและปัญหาสุขภาพ ล้วนแล้วแต่มีความเชื่อมโยงกับภาวะขาดเอ็นไซม์ ดร.เจมส์ บี ซัมเมอร์ ผู้รับรางวัลโนเบลกล่าวว่า “ การที่เราเริ่มรู้สึกว่าแก่ตัวเมื่ออายุย่างเข้า 40 นั้น ก็เนื่องจากระดับเอ็นไซม์ทุกชนิดในร่างกายลดลง เซลล์ใหม่มีเอ็นไซม์มากกว่าเซลล์เก่านับร้อยชนิด ส่วนเซลล์เก่านั้นเต็มไปด้วยขยะและสารพิษตกค้าง”
นพ. ดี เอ โลเปซ ดร. นพ. อาร์ เอ็ม วิลเลียม และ นพ. เอ็ม เมลเคอร์ ร่วมกันเขียนในหนังสือ เอ็นไซม์ “บ่อเกิดแห่งชีวิต” มีความตอนหนึ่งว่า
“ เราคิดว่าเอ็นไซม์บำบัด จะเป็นการรักษาหลักทางการแพทย์ในอนาคต เพราะศักยภาพของการบำบัดวิธีนี้สูงมาก เราเชื่อว่าเอ็นไซม์จะเป็นวิถีการรักษาแห่งอนาคต”