ดร.อานนท์ เอื้อตระกูล
เห็ดตับเต่า
ได้รับเชิญจากประเทศจีนให้ไปดูงานและประชุมเกี่ยวกับเห็ดหลายอย่าง และหลายครั้งเกี่ยวกับเห็ดเป็นยา และก็มีหลายครั้งเกี่ยวกับเห็ดเสณษฐกิจ โดยเฉพาะเห็ดที่หายาก มีราคาแพง เช่น เห็ดตับเต่าสีทอง (Boletus edulis) ที่มีการเพาะแบบกึ่งธรรมชาติขึ้นหลายมณฑล แต่ที่มากที่สุดคือ มณฑลยูนาน ที่เมืองตาลี่ และคุนหมิง เช่นเดียวกับกับที่บ้านเราระหว่างวันที่ 22-23 กรกฎาคม 2553 ที่ผ่านมา ที่ อบตสามเรือน จังหวัดอยุธยา ได้จัดงานวันตับเต่าขึ้น ผมจึงได้รับคำถามมากมายว่า ทำไมทางศูนย์ไม่เคยพูดถึงเรื่องเห็ดตับเต่าเลย วันนี้จึงขอคุยเรื่องนี้ เป็นการเกริ่นนำพอสังเขป ย้อนไปถึงอดีตเมื่อ ปี 2518 อาจารย์พันธุ์ทวี ภักดีดินแดน ขณะที่ท่านเป็นหัวหน้าสาขาจุลชีววิทยา กองวิจัยโรคพืช กรมวิชาการเกษตร ซึ่งทำหน้าที่รับผิดชอบงานวิจัยเห็ดของไทย ซึ่งเป็นเวลาที่ผมกำลังจบการศึกษาระดับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์พอดี โดยท่านอยากให้ผมเข้าทำงานที่สาขาของท่าน แต่ผมไม่ได้เรียนจบตรงสาขาที่จะเข้าทำงานในหน่วยงานนี้ได้ ท่านจึงพาผมไปที่บ้านของคุณหลงอินทรีย์ จันทรสถิตย์ ขณะนั้นท่านน่าจะอายุ 80 กว่าปี แล้ว ท่านเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเป็นรัฐมนตรีเกษตร
สาเหตุที่พาไปพบท่านก็เพราะ อ.พันธุ์ทวี อยากจะให้ท่านช่วยจัดตำแหน่งพิเศษให้แก่ผม พอคุยไปคุยมา คุยกันถึงเรื่องเห็ด ท่านกลับสนใจ และอยากให้ผมไปทำเห็ดในที่ของท่านที่ซอยเรวดี นนทบุรี เพราะท่านมีที่ตรงนั้นประมาณ 5 ไร่ ท่านพาผมไปดูที่ แล้วท่านบอกว่า ในเดือนพฤษภาคม ถึงสิงหาคมทุกปี ท่านจะต้องมาที่ตรงนี้ เพราะท่านปลูกต้นทองหลาง และแคกินดอกไว้เยอะ และถูกปีช่วงเวลาดังกล่าว จะมีเห็ดตับเต่าเกิดขึ้น ซึ่งท่านชอบมาก และกำชับให้ผมหาทางเพาะให้ได้ ผมก็รับปากว่า ผมจะพยายาม ขณะที่ท่านรับปากที่จะช่วยจัดสรรตำแหน่งพิเศษให้ผม ปรากฎว่าอีกไม่นาน ทาง กพ.ก็ได้อนุมัติตำแหน่งพิเศษให้ผมเป็น นักวิชาการโรคพืช ตำแหน่งพิเศษ หมายความว่า หากผมลาออก หรือตายไปก่อนเกษียน ก็จะต้องยุบตำแหน่งนี้เสีย ผมเลยได้เข้าทำงานเรื่องเห็ดโดยตำแหน่งนี้ ที่ไม่ต้องมีการสอบ แต่พอมาถึงเรื่อง เห็ดตับเต่า ทดลองอย่างไร ก็ไม่สามารถเพาะให้ออกดอกได้ เหมือนเห็ดนางรม เห็ดนางฟ้า หรือ เห็ดฟาง
จากนั้น ในปี 2525 ผมก็เดินทางไปดูงานและฝึกอบรมเกี่ยวการเพาะเห็ดตับเต่าที่อังกฤษ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ อิตาลีและเยอรมัน โดยประเทศต่างๆเหล่านี้ ทำการเพาะเห็ดตับเต่าภูเขาสีทอง(Boletus edulis) ด้วยการเพาะเลี้ยงเชื้อเห็ดบริสุทะในอาหารวุ้นทั่วไป แล้วนำเส้นใยเห็ดไปเพาะเลี้ยงในเมล็ดธัญพืชผสมปุ๋ยหมัก แล้วจึงนำไปใส่บริเวณโคนต้นของกล้าไม้โอ๊ค และไม้สน เพราะต้นพวกนี้ มักจะมีเห็ดตับเต่าธรรมชาติเกิดขึ้น หลังจากใส่เชื้อเห็ดไปแล้ว อีก 1-2 ปีต่อมาให้สังเกตดูต้นกล้าไม้ หากต้นไหนมีการเจริญเติบโตที่ค่อนข้างเร็ว แสดงว่าต้นนั้น จะมีเชื้อเห็ดตับเต่าเข้าไปเกาะอยู่บริเวณปลายยอดของรากพืชที่เกิดใหม่ โดยเชื้อเห็ดจะช่วยดูดซึมธาตุอาหารต่างๆในดิน ให้พืชนำเอาไปใช้ได้ง่ายขึ้น และยังสร้างฮอร์โมน ช่วยป้องกันเชื้อโรคเข้าทำลายรากต้นไม้ ขณะเดียวกัน มันก็อาศัยแหล่งพลังงานและสารอาหารบางอย่างจากต้นไม้ เป็นการอาศัยอยู่ด้วยกันแบบพึ่งพาอาศัยกัน (Symbiosis) และการที่เห็ดตับเต่าเจริญเติบได้อย่างรวดเร็ว และมีการสร้างดอกเห็ดขึ้นอย่างสมบูรณ์ได้ ก็ต้องอาศัยอาหารจากพืชสดๆเฉพาะพืชชนิดนั้นเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ เห็ดอะไรก็ช่าง ที่อาศัยธาตุอาหารจากพืชสดๆและอยู่อาศัยกับพืชสดแบบพึ่งพาอาศัยกันนั้น เรียกเห็ดหรือจุลินทรีย์ชนิดนั้นว่า ไมโคไรซ่า (Mycorhiza) ซึ่งเชื้อไมโคไรซ่า ยังแบ่งได้อีก เป็น 2 ชนิด คือ ไมโคไรซ่าที่อาศัยอยู่บริเวณรอบนอกของรากต้นไม้(Ectomycorhiza) อีกประเภทหนึ่ง มันจะเข้าไปแฝงอยู่ภายในเซลของรากพืช (Endomycorhiza) เชื้อของเห็ดตับเต่า หรือ เห็ดอื่นๆ เช่น เห็ดเผาะ เห็ดมันปู เห็ดระโงก เห็ดไคล ล้วนแล้วแต่เป็นพวก เอ๊กโตไมโคไรซ่าทั้งสิ้น
หลังจากเชื้อเห็ดตับเต่าเจริญเข้าไปบริเวณรากของต้นโอ๊กแล้ว เมื่อต้นไม้โตขึ้น ปริมาณเส้นใยมีมาก และมีอาหารเห็ดมาก เมื่อใดที่มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มันก็จะมารวมกันเกิดดอก นี่คือ กรรมวิธีการเพาะเห็ดตับเต่า ที่เขาเพาะกันด้วยวิธีนี้ทั่วโลก บ้านเราก็เช่นเดียวกัน เรามีเห็ดตับเต่าที่คนไทยรู้จักอยู่ไม่น้อย บางชนิดก็ทานได้ บางชนิดก็เป็นพิษ โดยเฉพาะเห็ดตับเต่าที่มีสีแดง และเมื่อแกะเนื้อออกสัมผัสอากาศ แล้วเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินหรือดำ ส่วนใหญ่จะมีพิษ แต่ก็มีเห็ดตับเต่าอีกหลายสายพันธุ์ที่ทานได้ เช่น เห็ดตับเต่าสีดำ ที่ทางอิสานเรียก เห็ดผึ้ง เห็ดผึ้งทาม ทางเหนือเรียก เห็ดห้า เพราะส่วนใหญ่ มักเกิดใต้ต้นหว้า ซึ่งต้นหว้า คนทางเหนือ เรียก ต้นห้า เห็ดตับเต่า ที่มักเกิดที่ต้นห้า จึงเรียกว่า เห็ดห้า ซึ่งเห็ดตับเต่าชนิดนี้ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Phaeogyrosporus portentosus(Berk ET Broome) ส่วนเห็ดตับเต่าที่เกิดในภาคกลาง แม้ว่าสีของหมวกดอกจะคล้ายกับเห็ดห้า หรือเห็ดผึ้ง แต่ลักษณะสปอร์จะมีผิวเรียบ เนื้อภายในของดอก เมื่อสัมผัสกับอากาศ จะไม่คล้ำมากเหมือนเห็ดห้า เห็ดตับเต่าในภาคกลาง ที่มักขึ้นตามใต้ต้นทองหลาง ต้นแค ต้นขนุน ต้นมะม่วง ต้นโสน มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Boletus colossus Heim
วิธีการเพาะเห็ดตับเต่าไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ใดที่ได้ผลนั้น คือ จะต้องนำเอาเชื้อเห็ด หรือน้ำสปอร์ของเห็ดตับเต่าไปเพาะเลี้ยงร่วมอยู่กับรากไม้ที่มันสามารถอาศัยอยู่ด้วยกันได้ มีเกษตรกรจำนวนไม่น้อย ที่ทำการเพาะเห็ดตับเต่ากันเป็นล่ำเป็นสัน ยกตัวอย่างเช่น คุณลำไพ ชัยสิทธิ์โยธิน บ้านเลขที่ 33 หมู่ 12 ตำบลระแหง อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี ก็ทำการเพาะเห็ดตับเต่า โดยได้รับความรู้จากบิดาที่มาจากจีน ทำการเพาะเห็ดตับเต่าใต้ต้นมะกอกน้ำ จนเป็นข่าวฮือฮาในหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับเมื่อหลายปีมาแล้ว นอกจากนี้ ยังมีโครงการสวนป่า เช่น สวนป่ายูคาลิปตัส ก็จะทำการเพาะเห็ดตับเต่า หรือเห็ดเผาะร่วมไปกับการปลูกไม้เศรษฐกิจ และเมื่อไม่นานมานี้ ได้มีนักวิชาการ ชำนาญพิเศษ กรมวิชาการเกษตร ชื่อ คุณนันทินี ศรีอุมปา ได้ออกอากาศทางทีวีสีช่อง 7 เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2553 ที่ผ่านมา ถึงผลสำเร็จในการเพาะเห็ดตับเต่าใต้ต้นหว้า มะกอกน้ำ มะม่วง และขนุน โดยไม้ต่างๆดังกล่าว หลังจากที่ใส่เชื้อเห็ดตับเต่าเข้าไปแล้ว จะเริ่มมีเห็ดตับเต่าเกิดขึ้นอีก 3 ปี ต่อมา แต่เมื่อมีเห็ดตับเต่าเกิดขึ้นแล้ว มันก็จะออกดอกมาให้เก็บอีกทุกปีระหว่างเดือนเมษายน ถึงกันยายนทุกๆปี
จากการที่มันต้องใช้เวลานานหลายปีนี่แหละ ที่คนส่วนใหญ่ไม่มีน้ำอดน้ำทนพอที่จะเสียเวลาไปรอนานปานนั้น และที่ใดที่มีการใช้สารเคมี เห็ดตับเต่าก็จะไม่เกิดขึ้นเลย จึงทำให้การเพาะเห็ดตับเต่าไม่แพร่หลาย แม้ว่าความต้องการตลาดทั้งในและต่างประเทศมีค่อนข้างสูง ราคาก็สูงเกินกว่า 100 บาทขึ้นไป ทางเหนือและอิสานราคา กก.ละเกิน 200 บาท แต่สิ่งที่ผมยอมยกนิ้วให้ และไม่เคยคิดว่า สิ่งนี้จะเป็นไปได้ ก็คือ เมื่อได้มีโอกาสไปดูการเพาะเห็ดที่ ต.สามเรือน อยุธยา เป็นเรื่องที่คิดไม่ถึงจริงๆ ที่เกษตรกรย่านนี้เพาะเห็ดตับเต่ากันมาหลายสิบปีแล้ว โดยเพาะในต้นไม้ที่ไม่เหมือนที่ไหนเลย เพราะที่กล่าวมาล้วนแล้วแต่เพาะในไม้ยืนต้น ที่กว่าเห็ดจะออกดอกได้ ต้นไม้ก็ต้องมีอายุหลายปีขึ้นไป แต่ที่บ้านสามเรือนนี้ เขาเพาะใต้ต้นโสนที่ใช้เวลาปลูกแค่ 2-3 เดือนเท่านั้น แล้วผลผลิตที่ได้ บางรายเนื้อที่เพียง 1 ไร่ บางวันเก็บเห็ดตับเต่าสดๆขนาดตูมได้มากกว่า 100 กก. ราคาที่หน้าสวนไม่ต่ำกว่า 60 บาท ราคาส่งที่ตลาดไท 100 บาท และสามารถเก็บผลผลิตได้นานกว่า 4 เดือน ของทุกปี นี่ไม่ใช่เป็นเรื่องของการเพาะแบบฟลุค หรืออาศัยผีสางเทวดา แต่เกิดจากความช่างสังเกตของเกษตรกรโดยแท้ ที่เป็นข่าวตามหน้าสื่อต่างๆ ก็เพราะทางราชการเป็นผูฉวยโอกาสเข้าไปทำข่าวเป็นผลงานเท่านั้น
แม้ว่าเห็ดตับเต่า ไม่สามารถเพาะได้เหมือนการเพาะเห็ดในถุงพลาสติก หรือเห็ดฟาง เนื่องจาก การกระตุ้นให้ออกดอกนั้น มันจำเป็นจะต้องอาศัยเส้นใยจำนวนมาก และสารอาหารที่เกิดจากการหลั่งมาจากต้นพืชบางชนิด ที่จะไปกระตุ้นให้เส้นใยเห็ดตับเต่ารวมตัวกันเป็นดอกเห็ดได้ เมื่อทราบดังนี้แล้ว ทั่วโลกจึงทำการเพาะเห็ดตับเต่า ด้วยการนำเอาเชื้อเห็ดตับเต่า ใส่เข้าไปบริเวณรากไม้ที่เส้นใยเห็ดตับเต่าสามารถเข้าไปเกาะและอยู่แบบพึ่งพาอาศัยกัน กล่าวคือ เส้นใยของเห็ดตับเต่า จะเข้าไปเกาะและเจริญอยู่บริเวณปลายรากของต้นไม้ ด้วยการอาศัยธาตุอาหารบางอย่างที่ถูกปรุงสำเร็จรูปแล้วจากต้นพืช รวมทั้งอาหารที่เป็นพลังงาน เอ็นไซม์ ฮอร์โมน ขณะเดียวกัน พืชก็ได้ผลประโยชน์จากการที่เส้นใยของเห็ดช่วยย่อยสลายสารอาหารบางอย่าง ที่พืชไม่สามารถย่อยได้ เช่น ธาตุฟอสฟอรัส ที่อยู่ในสภาพความเป็นกรด ธาตุดังกล่าวจะอยู่ในรูปที่ถูกตรึงอยู่ในดิน โดยพืชเอาไปใช้ไม่ได้ แต่เส้นใยเห็ดตับเตาสามารถย่อยสลายให้กลายเป็นอาหารพืชได้ นอกจากนี้ การที่มีเส้นใยเห็ดเข้าไปห่อหุ้มบริเวณเซลที่บอบบาง ทำให้เซลส่วนปลายของราก มีความสามารถในการดูดซึมความชื้นได้ดีขึ้น ทนแล้งได้ดี และช่วยเป็นเกราะป้องกันไม่ให้เชื้อโรค หรือแมลงเข้าไปทำลายส่วนต่างๆของรากได้สะดวก ดังนั้น เห็ดตับเต่า จึงถือว่าเป็น ไมโคไรซ่า (ไมโค (Myco) แปลว่า เชื้อรา ไรซ่า(Rhyzae) แปลว่า รากพืช) หรือเป็นเห็ดที่ต้องอาศัยรากพืชเพื่อดำรงชีวิตอย่างครบถ้วนแบบพึ่งพาอาศัยกัน
สรรพคุณทางยา
ชาวยุโรปนิยมทานเห็ดตับเต่ากันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชาวอิตาลี ฝรั่งเศส เยอรมัน ซึ่งถือว่า เห็ดตับเต่าไม่เพียงแต่มีรสชาตอร่อยแล้ว ยังถือว่าเป็นยาที่มีประโยชน์แก่มนุษย์มากมายหลายอย่าง ใครก็ตามที่เคยทานเห็ดตับเต่า จะเห็นได้ว่า เห็ดตับเต่าจะมีรสชาตและลักษณะที่ไม่เหมือนเห็ดชนิดอื่น เห็ดตับเต่าจะมีลักษณะเป็นเมือก ซึ่งเป็นสารโพลีแซคคาไรด์ ที่สำคัญในการป้องกันและรักษาโรคมะเร็ง เสริมสร้างภูมิต้านทาน สร้างเกล็ดเม็ดเลือด ป้องกันการอักเสบ และมีสาร Phytochelatins ที่จะเข้าไปทำปฎิกิริยากับโลหะหนัก ไม่ให้เป็นพิษแก่ร่างกายของมนุษย์ได้
ดังนั้น คนยุโรปจึงถือว่า เห็ดตับเต่าเป็นสุดยอดของอาหารในการล้างพิษให้แก่ร่างกาย ในทุกปี ชาวยุโรปจะต้องหาทางให้ได้ทานเห็ดตับเต่า เพื่อเป็นการล้างพิษให้จงได้ แต่จากความต้องการเห้ดตับเต่าของตลาดโลกมีความต้องการอย่างมหาศาล ซึ่งไม่สอดคล้องกับเห็ดที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ จึงได้เกิดอุตสาหกรรมการปลูกเห็ดตับเต่ากันขึ้นทั่วทวีปยุโรป ด้วยการนำเอาเชื้อเห็ดตับเต่าใส่เข้าไปในรากพืชที่ยังมีอายุน้อยอยู่ เมื่อรากพืชมีเส้นใยเห็ดเกาะติดแล้ว สังเกตได้จาก จะเห็นต้นพืชที่มีเชื้อเห็ดเกาะติดแล้ว จะเจริญรวดเร็วกว่าต้นที่ยังไม่มีเชื้อเห็ดอย่างเห็นได้ชัด จากนั้นจึงนำไปปลูกประมาณ 10 ปี ขึ้นไป ก็จะมีเห็ดตับเต่าเกิดขึ้น เมื่อมีเห็ดตับเต่าเกิดขึ้นแล้ว มันจะเกิดขึ้นทุกปีอย่างต่อเนื่อง โดยไม่จำเป็นจะต้องใส่เชื้อเห็ดเข้าไปใหม่อีกเลย จนกระทั่งต้นไม้นั้นตายไป อาจจะใช้เวลาหลายสิบหรือหลายร้อยปี จึงถือว่าคุ้มมาก แม้ว่าเวลาเพาะจะนานกว่า 10 ปีก็ตาม ประเทศที่เห็นถึงความสำคัญของตลาดเห็ดตับเต่าขนาดมหึมา เช่น ประเทศสวาซิแลนด์ ติดกับประเทศแอฟริกาใต้ ที่ผู้เขียนไปเป็นผู้เชี่ยวชาญอยู่ที่นั่น 3 ปี (ปี 2542-2545) รัฐบาลได้ให้สัมปทานปลูกป่าสนและป่าไม้ยูคาลิปตัส ให้แก่บริษัทต่างชาติชาวฝรั่งเศส ก็อาศัยป่าดังกล่าวนั่นแหละ ทำการเพาะเห็ดตับเต่าไปด้วย ปรากฎว่า รายได้จากการเก็บเห็ดตับเต่าขาย ได้มากกว่าการตัดไม้ขาย
เช่นเดียวกับที่ประเทศจีน ในมณฑลยูนาน รัฐบาลท้องถิ่นได้สังเกตเห็ดเห็ดตับเต่าเกิดขึ้นในป่าไม้หลายชนิด จึงทำการศึกษาและส่งเสริมการเพาะเห็ดตับเต่ากันอย่างจริงจัง ด้วยการรักษาป่าไม้ให้คงสภาพสมบูรณ์ และส่งเสริมให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการเพาะเห็ดตับเต่า ด้วยการนำเชื้อเห็ดตับเต่า ทั้งในรูปของเชื้อบริสุทธิ์ที่เพาะเลี้ยงได้ไม่ยุ่งยากนัก หรือใช้ดอกเห็ดตับเต่าที่แก่ สร้างสปอร์แล้ว มาบีบหรือปั่นให้ละเอียด แล้วนำไปใส่บริเวณปลายของรากไม้ ปรากฎว่า ปัจจุบัน ประเทศจีนสามารถเพาะเห็ดตับเต่าได้ปีละนับแสนตัน ทำให้มีหลายอำเภอของยูนาน เช่น ที่เมืองตาหลี่ เมืองหนานหัว ระหว่างเดือน กรกรฎาคม ถึงเดือนตุลาคม จะมีเกษตรกรหลายล้านคน มีอาชีพในการเก็บเห็ดตับเต่า เพื่อนำส่งโรงงานแปรรูปที่อยู่มากกว่า 100 แห่ง แต่ละแห่ง สามารถแปรรูปเห็ดตับเต่าได้มากกว่า 1,000 ตันขึ้นไป
มาถึงตรงนี้ จึงขอประกาศให้ทราบโดยถ้วนทั่วว่า ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เห็ดตับเต่าสามารถเพาะได้หรือไม่ คำตอบที่แน่ชัดอยู่แล้ว คือ เพาะได้ แต่ต้องเพาะแบบต้องอาศัยต้นไม้ที่มีชีวิตอยู่เท่านั้น แม้ว่า ทางสถาบันบางแห่งของไทย ประกาศว่า สามารถเพาะเห็ดตับเต่าโดยไม่ใช้ต้นไม้ เป็นแห่งแรกของโลก แต่ก็เป็นการกระตุ้นให้เกิดดอกได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น ที่ไม่สามารถทำเป็นธุรกิจได้ แทบทุกประเทศทั่วโลกที่เขาเพาะเห็ดตับเต่า เขาก็ทำได้ แต่เขาไม่ได้อวดอ้าง เพราะมันยังเอาไปทำเป็นธุรกิจยังไม่ได้
ไม้แคบ้าน ไม้ทองหลาง แคฝรั่ง มะกอกน้ำ มะม่วง ฉำฉา ไทร โพธิ์ สะแบง(ไม้เหียง) ยูคาลิปตัส กระกิน กระถินเทพา สะแกนา ตะแบก กระท้อน ชะอม ลำดวน กระทุ่ม ชมพู่ เงาะ มังคุด หางนกยูง หว้า รำเพย มะกอกบ้าน ยี่โถ ชมพูพันธ์ทิพย์ ชบา มะขาม มะค่า เต็ง รัง เสียว โสน โสนแอฟริกัน เป็นต้น
ดังนั้น ใครก็ตามมีต้นไม้ต่างๆเหล่านี้ สามารถเพาะเห็ดตับเต่าได้ ด้วยการนำเอาเชื้อเห็ดเข้าไปใส่บริเวณปลายราก(ปลายทรงร่มของต้นไม้) เพื่อให้เส้นใยของเห็ดตับเต่าเข้าไปเกาะบริเวณปลายรากของพืช โปรดจำไว้ว่า อาจจะเป็นการยากเล็กน้อยที่จะเอาเชื้อเห็ดใส่เข้าไป เพื่อให้เชื้อเห็ดเกาะบริเวณปลายรากต้นไม้ได้ หากไม่มั่นใจ ให้ใส่ไปหลายๆครั้ง จนกระทั่งมีเห็ดตับเต่าเกิดขึ้น จากนั้น ท่านไม่ต้องใส่อีกเลย ก็จะมีเห็ดตับเต่าเกิดขึ้นเป็นมรดกตกทอดชั่วลูกหลาน ตราบที่ต้นไม้นั้นยังอยู่ ก็จะมีเห็ดตับเต่าเกิดขึ้นตลอด และนี่แหละคือ ทองคำเพาะได้จริงๆ เพราะ พื้นที่แค่ 1 ไร่ บางวันสามารถเก็บเห็ดตับเต่าได้มากเกิน 100 กก.(ไม่ได้ออกทุกวัน บางวันมากบ้างน้อยบ้าง) และจะมีให้เก็บตลอดฤดูฝน หรือตราบเมื่อเราปรับสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมได้ ก็จะเก็บได้ทั้งปีเช่นกัน