ดร.อานนท์ เอื้อตระกูล

ร่างกายของมนุษย์ ประกอบไปด้วยเซลล์ที่มีขนาดเล็กมาก มีจำนวนมากถึง 60-90 พันล้านล้านเซลล์ โดยเมื่อมีการเจริญพันธุ์มาถึงระดับหนึ่ง คือ ประมาณ 18-20 ปี การพัฒนาส่วนต่างๆของร่างกายส่วนใหญ่ก็จะคงที่ ด้วยจำนวนเซลล์ที่มีอยู่เป็นส่วนประกอบของร่างกายนั้น จะมีอายุแตกต่างกันไป เซลล์บางชนิด เช่น เซลล์ที่อยู่ตามระบบทางเดินอาหารในลำไส้ อาจจะมีอายุเพียงไม่กี่วัน เซลล์ที่อยู่ในตับอ่อน จะมีอายุหลายสัปดาห์หรือเป็นเดือน เซลล์ที่อยู่ในระบบประสาทหรือสมองจะมีอายุนานเป็นปี เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในแต่ละเซลล์จะมีกลไกชีวิตที่ถูกกำหนดอายุขัยอย่างเป็นระบบ เมื่อถึงเวลาก็จะต้องตายด้วยการย่อยสลายตัวเองอย่างรวดเร็วหรือที่เรียกว่า อะพอพโทซีส(Apoptosis) เศษซากของเซลล์ก็จะถูกเซลล์รอบข้างช่วยดูดซึมเอาอาหารไปใช้ การตายของเซลดังกล่าวเป็นการตายตามอายุขัยที่ถูกกำหนดไว้แล้ว และจะมีการสร้างเซลใหม่ขึ้นมาทดแทน ทำให้เกิดขบวนการที่เรียกว่า ภาวะธำรงดุล (homeostasis) ที่จำเป็นในสิ่งมีชีวิตเพื่อรักษาภาวะภายในร่างกายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

ภาวะธำรงดุลของจำนวนเซลล์ในร่างกาย เกิดขึ้นเมื่ออัตราการแบ่งเซลล์แบบไมโทซีสในเนื้อเยื่อสมดุลกับการตายของเซลล์ หากภาวะสมดุลดังกล่าวถูกรบกวน จะทำให้เกิดความผิดปกติซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ 2 แบบ ได้แก่

  •  เซลล์แบ่งตัวเร็วกว่าที่เซลล์ตาย จะทำให้เกิดการเจริญไปเป็นเนื้องอก
  •  เซลล์แบ่งตัวช้ากว่าที่เซลล์ตาย จะทำให้เกิดความผิดปกติเกี่ยวกับการสูญเสียเซลล์

ในสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ จะต้องมีกระบวนการอันซับซ้อนดังกล่าว เพื่อควบคุมภาวะธำรงดุลภายในร่างกายอย่างเข้มงวด เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตต่อไปได้ ซึ่งต้องอาศัยการส่งสัญญานของเซลล์ (cell signaling) หลายชนิด การเสียหน้าที่ของการควบคุมในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งจะทำให้เกิดความผิดปกติ หรือเกิดโรคได้ เช่น การสูญเสียการควบคุมของวิถีการส่งสัญญาณ(signaling pathway) อาจทำให้เกิดสัญญาณที่มากเกินไปและก่อให้เกิดมะเร็ง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเช่น วิถีซึ่งส่งสัญญาณต้านอะพอพโทซิสของเซลล์พบว่า สามารถกระตุ้นให้เกิดมะเร็งชนิดต่อมของตับอ่อน (pancreatic adenocarcinoma)

มีปัจจัยเสี่ยงมากมายหลายชนิด ที่จะมีผลต่อขบวนการภาวะธำรงดุล อันเป็นผลทำให้มนุษย์มีแนวโน้ม เป็นโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอย่างน่าวิตก ปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวอันได้แก่ ควันบุหรี่ อากาศเป็นพิษ ดื่มสุรามากเกินไป รังสี การรับประทานอาหารที่มีสารก่อให้เกิดมะเร็ง เช่น สารกันบูด สารปรุงแต่งบางชนิด สารพิษที่ได้จากสารเคมีหรือจากเชื้อราปนเปื้อน ได้แก่ อัลฟาท๊อกซิน เป็นต้น จึงได้มีการศึกษาค้นคว้า หาวิธีป้องกันและรักษาโรคมะเร็งกันอย่างมาก แต่ก็ยังไม่สามารถเอาชนะโรคดังกล่าวได้ ด้วยกรรมวิธีใดวิธีหนึ่งอย่างชัดเจน แม้ว่าจะมีอุปกรณ์การตรวจวิเคราะห์ค้นหา หรือเทคโนโลยีในการรักษาจะทันสมัยประการใดทั้งการผ่าตัด การฉายแสง การใช้ยาหรือสารเคมีจะแพงระดับไหน ผลที่ดีที่สุดก็คือ แค่สามารถประคับประคองชีวิตของผู้ป่วยไปได้อีกระยะหนึ่งเท่านั้น จากเหตุผลดังกล่าว การที่จะป้องกัน หรือรักษาให้ร่างกายของมนุษย์มีขบวนการธำรงดุลเป็นไปอย่างปกตินั้น จึงเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่ไม่ก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ หรือแม้กระทั่งเป็นโรคอยู่แล้ว ก็จะไม่ทำให้ลุกลามไปอย่างรวดเร็ว และพบว่า การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกายให้อยู่ในภาวะปกติหรือเตรียมความพร้อม น่าจะเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาดังกล่าว

เห็ดแทบทุกชนิด ที่สามารถรับประทานได้ แม้ว่ามันจะเป็นพืชชั้นต่ำ เนื่องจากตัวของเห็ดเอง ไม่สามารถสังเคราะห์อาหารหรือสร้างอาหารบางชนิด เช่น พลังงานด้วยตัวของมันเองได้ ต่างไปจากพืชชั้นสูง ที่มีสีเขียวของคลอโรฟิลจับพลังงานจากแสงแดดเพื่อนำเอาน้ำและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาปรุงเป็นน้ำตาลชนิดต่างเป็นพลังงานให้แก่พืชได้ ดังนั้น เห็ดจะต้องอาศัยพลังงานจากเศษซากพืชที่ตายแล้วเท่านั้น ในขบวนการดึงพลังงานจากพืชมาใช้เป็นอาหารของเห็ดนั้น มันจะมีการสะสมน้ำตาลบางอย่าง จับตัวกันเป็นโมเลกุลยาว ที่เรียกว่า โพลีแซคคาไรด์(Polysaccharide) โดยมีโซ่หลักที่จับกันเป็นแบบ 1-3 ส่วนโซ่รองจับกันแบบ 1-6 ที่เรียกว่า 1-3,1-6 beta glucans(เบต้า กลูแคน) ซึ่งสารเบต้ากลูแคนในเห็ด มีสรรพคุณในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ต่อต้านอนุมูลอิสระให้แก่ร่างกายเป็นอย่างดี เป็นผลทำให้ขบวนการภาวะธำรงดุลของร่างกายเป็นไปตามปกติ ส่งรหัสที่เป็นผลให้เกิดการตายของเซลมะเร็งขึ้นเองได้ ช่วยทำให้ผู้ป่วยมะเร็งมีชีวิตยืนยาวต่อไปได้อีก นอกจากนี้ สารเบต้ากลูแคนในเห็ด ยังไปส่งเสริมให้ร่างกายไปกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนให้แก่เซลผิวหนัง ทำให้บริเวณผิวหนังมีความยืดหยุ่น มีการสร้างเซลใหม่เกิดขึ้น มีความเต่งตึงและลดการเหี่ยวหย่นของผิวหนังได้ อย่างไรก็ตาม ในเห็ดแต่ละชนิดมีสารเบต้ากลูแคนที่แตกต่างกัน จึงมีคุณสมบัติในการกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกัน และต่อต้านอนุมูลอิสระที่แตกต่างกันไปด้วย ยกตัวอย่าง เช่น เห็ดขอนช้อน(Coriolus versicolor) มีสารเบต้ากลูแคนที่เรียกว่า เครสทีน(Krestin) มีน้ำหนักโมเลกุล 100,000 ดาล์ตัน ผลิตโดยบริษัท ซันเคียว ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 เป็นยารักษาโรคมะเร็งระบบทางเดินอาหาร ปอด และเต้านม เห็ดแครง(Schizophyllum commune) มีสารเบต้ากลูแคนที่เรียกว่า สคิโสไฟแลน(Schizophyllan) มีน้ำหนักโมเลกุล 450,000 ดาล์ตัน ผลิตโดยบริษัท กาเก็น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 เป็นยารักษาโรคปากมดลูก เป็นต้น นอกจากเห็ดจะมีเบต้ากลูแคนแล้ว ยังพบว่า มีเห็ดอีกหลายชนิด ยังมีสารบางชนิด เช่น

“ไตรเตอร์ปินหรือสารขม” ในเห็ดหลินจือ เห็ดกระถินพิมาน ที่ช่วยกำจัดอนุมูลอิสระได้เป็นอย่างดี
“ สารสเตียรอลธรรมชาติ” ในเห็ดกระดุมบราซิล ลดอาการบวม การเจ็บปวดและผลข้างเคียงของเคมีบำบัด
“ สารคอร์ดิซิปิน” ในเห็ดถั่งเช่า และเห็ดถั่งเช่าสีทอง ที่ช่วยกระตุ้นให้ปอดนำเอาออกซิเจนไปใช้เพิ่มได้สูงอีก 30-40% เป็นต้น

ทำให้ปัจจุบัน ไม่เพียงแต่จำนำเห็ดมาปรุงเป็นอาหารทั่วไปแล้ว ยังได้มีการใช้เห็ดนำมาเป็นส่วนผสมที่สำคัญในด้านการผลิตยารักษาโรคอีกด้วย จึงมีการจำกัดความของเห็ดว่า เห็ดเป็นทั้งอาหารและยาหรือที่เรียกว่า Functional food อย่างไรก็ตาม สารอาหารที่มีสรรพคุณทางยาในเห็ดนั้น มักจะอยู่ในรูปหรือมีขนาดใหญ่เกินกว่าที่ร่างกายจะนำเอาไปใช้ได้โดยตรง จำเป็นจะต้องทำให้ขนาดหรืออยู่ในรูปที่ร่างกายเอาไปใช้ได้เสียก่อน มีผู้ที่นำเอาเห็ดไปใช้เป็นยาส่วนใหญ่มักจะเข้าใจผิด ด้วยการนำเอาเห็ดมาผ่านความร้อนด้วยการต้ม หรืออบแห้งแล้วบดเป็นผง ความร้อนจะทำให้สรรพคุณทางยาส่วนใหญ่สูญเสียหรือหมดไป หากนำเอาไปดื่มหรือทานก็จะไม่ก่อให้เกิดผลดีอะไรต่อร่างกาย ดังนั้น ทางที่ดี ควรจะนำเอาเห็ด โดยไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ดอกเห็ดเท่านั้น อาจจะใช้เส้นใย หรือทั้งดอกทั้งเส้นใยของเห็ดก็ได้ นำมาผ่านขบวนการหมักด้วยจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์และปลอดภัย ช่วยทำการหมัก ให้สารอาหารที่มีสรรพคุณทางยา ให้อยู่ในรูปที่ร่างกายนำเอาไปใช้ได้ นอกจากนี้ จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์บางชนิด ที่ใช้ในการหมัก ยังสามารถช่วยสร้างสารที่มีความสามารถในการกำจัดอนุมูลอิสระเพิ่มขึ้นได้อีกหลายเท่าตัว

สรุปของการใช้เห็ดเป็นยาเสริมภูมิคุ้มกันนั้นสามารถทำได้ ดังนี้

1. ใช้เห็ดที่มีคุณสมบัติสร้างภูมิคุ้มกันได้สูง เช่น เห็ดกระถินพิมาน เห็ดขอนช้อน เห็ดหลินจือ เห็ดกระดุมบราซิล เห็ดแครง เห็ดถั่งเช่าสีทอง จะใช้ชนิดใดชนิดหนึ่ง หรือนำเห็ดหลายชนิดมาผสมรวมกัน ควรใช้ทั้งในรูปของเส้นใยเห็ด และดอกเห็ดควบคู่กันไป นำมาทำการหมักแบบใช้อากาศ โดยใช้เชื้อยูเอ็ม 55 เป็นเวลา 24-48 ชั่วโมง เพื่อเป็นการสร้างเอ็นไซม์ เหมาะอย่างยิ่งสำหรับท่านที่มีความบกพร่องทางด้านเอ็นไซม์ ก็คือ ผู้ป่วยเนื่องจากโรคแทบทุกชนิดล้วนแล้วเกิดจากความบกพร่องของร่างกายทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคมะเร็ง โรคเบาหวานและเกาท์ ควรรับประทานครั้งละ 1 ช้อนชาผสมน้ำหรือน้ำผลไม้ดื่มก่อนอาหารครึ่งชั่วโมง

2. หากต้องการทั้งยาและเอ็นไซม์สูงสุด ควรปล่อยให้ทำการหมักนานอย่างน้อยที่สุด 15-20 วัน แล้วนำไปทาน 1 ช้อนโต๊ะผสมน้ำหรือน้ำผลไม้ก่อนอาหารครึ่งชั่วโมง เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคความดัน เบาหวาน เกาท์ เอดส์ เป็นต้น,

ใส่ความเห็น