คำถามเกี่ยวกับการใช้ทะลายปาล์มนำมาเพาะเห็ด

on Tue Jul 06, 2010 1:50 pm

เรียนอาจารย์ ดร.อานนท์ ที่เคารพรัก

จากที่ได้เข้ารับการอบรมการเพาะเห็ดฟางที่ผ่านมา ได้ความรู้มากครับ จากที่ผมไม่มีความรู้เลย ซึ่งจากที่ได้รับการอบรมพบว่าอาจารย์ได้แนะนำทะลายปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นวัสดุเพาะเห็ดฟาง ล่าสุด ผมได้ทำการติดต่อไปยังโรงงานปาล์มน้ำมัน ซึ่งอยู่ใกล้บ้านที่ภาคใต้ พบว่าทางโรงงานยินดีที่จะจำหน่ายในราคาที่ถูกมาก หรือแทบจะไม่คิดเงินเลย จึงทำให้ผมมีความสนใจที่จะนำทะลายปาล์มน้ำมันมาหมัก และทำการขายให้ผู้ทำธุรกิจเพาะเห็ดต่อไป จึงมีข้อสงสัย รบกวนอาจารย์ แนะนำให้ด้วยครับ
1. ทะลายปาล์มน้ำมันที่ออกจากการโรงงานผลิต เป็นครั้งที่ 2 สามารถนำมาใช้ได้หรือไม่ (ทางโรงงานแจ้งว่า เขานำทะลายปาล์มน้ำมันมาคั้นเอาน้ำมันออก)
2. ทะลายปาล์มน้ำมันที่อยู่ในโรงงาน ทิ้งไว้หลายวัน เราสามารถนำมาหมักได้หรือไม่
3. หลังจากการหมักทะลายปาล์มน้ำมันแล้ว เรามีวิธีการเก็บให้อยู่ได้นานยังไง
4. ขี้เลื่อยที่มาจากต้นปาล์มน้ำมัน สามารถนำมาเพาะเห็ดถุง แทน ขี้เลื่อยจากต้นยางพารา ได้หรือไม่ (นอกประเด็นนิดครับ)

รักและเคารพอาจารย์อย่างสูง
เกรียงศักดิ์ แซ่ลิ่ม

คำตอบโดย ดร. อานนท์ เอื้อตระกูล

นับว่าคุณโชคดีที่สุด ที่มีแหล่งวัตถุดิบจำนวนมากและราคาถูกหรือแทบไม่มีราคาเลย ขณะที่ผู้เพาะเห็ดที่อยู่ห่างไกล จะต้องซื้อในราคาแพงเนื่องจากค่ารถ และต้องจัดการในเวลาค่อนข้างเร็ว ทำให้มีราคาสูง ดังนั้น หากคุณมีโอกาส น่าจะทำการหมักทะลายปาล์มและเก็บไว้ได้นานๆได้

ก่อนที่จะทำการหมักและทำธุรกิจเรื่องนี้นั้น จะต้องเข้าใจเสียก่อนว่า ทะลายปาล์มที่ใช้เพาะเห็ดนั้นคืออะไร

จริงๆแล้ว หากนำเอาทะลายปาล์มสดๆ หรือเอาขี้เลื่อยจากต้นปาล์มสดๆมาเพาะเห็ดฟาง จะไม่ได้ผลเลย เพราะเชื้อเห็ดฟางไม่สามารถย่อยอาหารที่สลับซับซ้อนในทะลายปาล์มหรือขี้เลื่อยจากต้นปาล์มได้ แต่หากทะลายปาล์มถูกนำไปนึ่งที่อุณหภูมิสูงกว่า 130 องศาเซลเซียส ปกติก่อนที่จะมีการบีบน้ำมันนั้น เขาจะเอาผลปาล์มน้ำมันรวมทั้งทะลายปาล์มใส่เข้าไปในหม้อนึ่งความดัน ที่อุณหภูมิ 150 องศาเซลเซียส นานกว่า 2 ชม. ซึ่งอุณหภูมิสูงขนาดนี้ สามารถไปย่อยสลายสารอาหารต่างๆที่อยู่ในรูปสลับซับซ้อน ให้เปลี่ยนสลายออกมาอยู่ในรูปที่เชื้อรา แบคทีเรีย รวมทั้งเชื้อเห็ดด้วยนำเอาไปใช้ได้ง่าย ดังจะเห็นได้จาก หลังจากบีบเอาทะลายปาล์มออกไปแล้ว พอเอาไปกองทิ้งไว้ไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น จะมีเชื้อรานานาชนิดเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว หากปล่อยไว้เช่นนั้น เชื้อราอื่นๆก็จะเอาอาหารไปใช้หมด แต่หากเอามาหมักด้วยเชื้อจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์อย่างถูกต้อง ก็สามารถนำเอาไปใช้เพาะเห็ดฟางได้เป็นอย่างดี ดังนั้น จึงขอตอบปัญหาที่ถามมาดังนี้

1. ทะลายปาล์มที่ได้จากการบีบนำมันออกแล้ว ถึอว่า เป็นรุ่นที่หนึ่ง ที่มีอาหารสูงสุด แต่การย่อยสลายยังไม่สมบูรณ์ทั้งหมด จะเห็นได้จากหากทำการฉีกหรือดึง จะไม่หลุดง่าย ทะลายปาล์มนี้ หากจะนำเอามาใช้เพาะเห็ดฟางนั้น จะต้องนำมาหมักเสียก่อน โดยใช้อาหารเสริมสตาร์ทเตอร์ 2-3 กก. ปูนขาว 2 กก. เชื้อจุลินทรีย์ABC(Anon Biotech Centre)ที่ใช้สำหรับการหมักปุ๋ยเพาะเห็ด ในอัตรา 1 ลิตรต่อน้ำ 200 ลิตรเทราดทั่วกองปุ๋ย เชื้อจุลินทรีย์ดังกล่าว เป็นกลุ่มเชื้อที่มีประโยชน์ ที่สามารถย่อยอาหารต่างๆในวัสดุเพาะ ไม่ว่าจะเป็นฟาง ขี้เลื่อย หรือทะลายปาล์ม ให้ย่อยสลายเป็นอาหารเห็ดได้ดีและมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น กองวัสดุเพาะไว้ให้สูงไม่เกิน 100 ซม.หรือ 1 ม. ความกว้างและความยาวเท่าไหร่ก็ได้ ทำการกลับกองทุกๆ 2-3 วัน ดังนั้น ในแง่ที่จะทำเป็นธุรกิจจริงๆ อาจจะต้องใช้เครื่องมือเข้าช่วย เช่น รถตักหรือรถกลับกองปุ๋ยหมัก ให้ทำการหมักอย่างน้อย 12-15 วัน หรือทำการกลับกอง 4-5 ครั้ง ในการกลับกองครั้งสุดท้ายนั้น ถ้าจะให้ดี ให้เติมหินฟอสเฟตและปูนยิบซั่มดิบอย่างละ 2 กก.ต่อวัสดุหมัก 1 ตัน(วัสดุหมักที่ชั่งขณะมีความชื้นสูงอยู่) การใส่อาหารเสริมทั้ง 2 ชนิดนี้เข้าไป เพื่อทำการปรับสภาพของปุ๋ยให้เหมาะสมและมีธาตุอาหารที่สมบูรณ์ จากนั้นหมักต่อไปอีก 1-2 วัน จึงจะได้ปุ๋ยหมักที่พร้อมที่จะนำเอาไปเพาะเห็ดฟางได้ หรือ นำไปผึ่งให้แห้ง แล้วนำไปอัดเป็นก้อน เพื่อให้เนื้อที่ลดลง สะดวกและประหยัดในการเคลื่อนย้ายและลดต้นทุนค่าขนส่งลง วัสดุที่ตากแห้งแล้ว สามารรถเก็บไว้ใช้ได้นานเป็นปี ดังนั้น หากคุณมีโอกาส น่าจะทำถึงขั้นตอนนี้ แล้วประกาศให้ผู้สนใจ หรือผ่านทางฝ่ายประชาสัมพันธ์ของศูนย์ได้

2.ใช้ได้ แต่ควรเป็นไวที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะยิ่งปล่อยไว้นานเท่าไหร่ ยิ่งทำให้เชื้อจุลินทรีย์ชนิดอื่น นำเอาอาหารไปใช้มากยิ่งขึ้น อาหารที่เห็ดจะเอาไปใช้จะน้อยลง

3 .ตอบไปแล้วว่า ผึ่งให้แห้ง พอแห้งแล้ว ตากแดดให้แห้งสนิทอีกที สามารถเก็บไว้ใช้ได้เป็นปี เวลาจะเอาไปใช้ เพียงแต่รดหรือแช่น้ำให้อิ่มตัว แล้วกองสุมไว้ให้เกิดความร้อนสัก 1-2 วัน แล้วจึงใส่อาหารเสริม KAT 201 ในอัตรา 3-5 กก.ต่อวัสดุเพาะแห้ง 100 กก. ก่อนที่จะนำเข้าไปเพาะเลี้ยงเชื้อราในโรงเรือนต่ออีก 1-2 วัน จึงจะอบไอน้ำเพื่อฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ต่อไป อย่าลืมว่า ถ้าจะให้ดี ในน้ำที่ใส่เข้าไป ไม่ว่าจะเป็นน้ำที่ใช้แช่หรือใช้รด ควรเป็นน้ำผสมเชื้อจุลินทรีย์ABC(Anon Biotech Centre)ที่ใช้สำหรับการหมักปุ๋ยเพาะเห็ด ในอัตรา 1 ลิตรต่อน้ำ 200 ลิตรเข้าไปด้วยทุกครั้ง
4. หากเป็นการนำเอาไปนึ่งก็สามารถนำเอาไปเพาะเห็ดในถุงได้ เช่น เห็ดนางรม เห็ดนางฟ้าได้ จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ยังได้ค้นพบว่า น้ำมันเกรอะ คือ ซากน้ำมันปาล์ม ที่ได้จากการล้างเครื่อง มีสีดำ กลิ่นเหม็น ส่วนใหญ่โรงงานมักจะมีปัญหาในการนำไปทิ้ง แต่บางโรงงานจะนำไปแยกเอาน้ำมันเกรดต่ำ เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมสบู่ และอาหารสัตว์ ของเสียดังกล่าว หากนำมาผสมกับวัสดุเพาะเห็ดในถุง เช่น ผสมฟาง ขี้เลื่อย ซังข้าวโพด และขี้เลื่อยจากต้นปาล์ม จะทำให้เส้นใยเห็ดเจริญได้ดี และผลผลิตสูงขึ้น