ฟาร์มวิตามินดี
Tuesday, September 13, 2016
4:58 PM
บทความโดย สรชัย สหบุญกุล
ก่อนที่จะเข้าเรื่องที่จะเล่าครั้งนี้ อยากให้ผู้อ่านได้ลองทำดังต่อไปนี้โดย
1. ใช้นิ้วโป้งกดลงไปกระดูกตรงกลางหน้าอก ถ้ารู้สึกเจ็บหรืออึดอัด แสดงว่าคุณกำลังขาดวิตามินดี
2. ยืนตัวตรงหลับตา แล้วยื่นขาขวาออกยกค้างไว้ ถ้าคุณไม่สามารถทรงตัวได้ดีใน 3 วินาทีแรก แสดงว่ากำลังขาดวิตามินบี12
3. ถ้ามุมปากแห้งมากจนบางครั้งเกิดแผล รวมถึงในปากมีแผลร้อนใน แสดงว่าคุณกำลังขาดวิตามินบี6
4. ถ้าผมหรือผิวหนังทั้งตัวแห้งมากๆ หรือบางครั้งเล็บลอกเป็นขุย แสดงว่าคุณกำลังขาดวิตามินเอ
http://www.doctoroz.com/…/4-easy-self-tests-vitamin-deficie…
และวิตามินทั้งสี่ข้างต้นนี้เองที่เป็นส่วนสำคัญที่ทุกคนมองข้ามทั้งๆที่มันเป็นตัวที่สร้างสมดุลย์ของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเรา ให้ทำงานได้เป็นปกติ
ซึ่งมาถึงเรื่องที่จะเล่าในครั้งนี้เนื่องจากอาจารย์อานนท์ได้พยายามบอกทุกครั้งในการเพิ่มวิตามินดีในเห็ดด้วยแสงแดด ไม่ว่าจะนำไปใช้ประกอบอาหาร หรือทำเอนไซม์ เพียงแค่นำเห็ดไปตากแดดไม่กี่ชั่วโมง ก็เสมือนกับเสกเอาวิตามินดีเข้าไปจำนวนมหาศาล
วิตามินดีมีความสำคัญและจำเป็นมากต่อระบบภูมิคุ้มกัน รวมถึงระบบการดูดซึม (metabolism) ของมนุษย์ เป็นเหตุให้แพทย์มักให้วิตามินดีปริมาณมากกับผู้ป่วยโรคมะเร็ง เพื่อเป็นการเสริมให้สภาพร่างกายสามารถฟื้นฟูได้ และเห็ดก็แทบเป็นอาหารทีไม่ใช่เนื้อสัตว์ ที่มีปริมาณวิตามินดีที่สูงที่สุด ที่เราสามารถเอามาใช้ได้เอง เปรียบเสมือนกับแผงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ ที่เมื่อนำมาตากแดด รังสี UVb ก็จะทำปฏิกิริยากับสาร Ergosterol ในเห็ด ทำให้เกิดการผลิตของวิตามินดีสอง (Vitamin D2) ขึ้นได้เป็นทวีคูณ ในขณะที่คนและสัตว์มีสาร cholecalciferol ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นวิตามินดีสาม (Vitamin D3) เมื่อถูกรังสี UVb
และจากการทดลองของ Paul Stamets ผู้เชี่ยวชาญเห็ดในประเทศสหรัฐอเมริกา ก็พบว่านอกจากที่แสงแดดช่วยเพิ่มปริมาณวิตามินดีในเห็ดได้อย่างมากแล้ว มันยังสามารถเก็บอยู่ในเห็ดที่ตากแดดมาแล้วมากกว่าหนึ่งปีอีกด้วย ทำให้ผมย้อนนึกถึงสมัยก่อนตอนเป็นเด็ก เวลาที่แม่จะใช้เห็ดหอมจีน ต้องไปซื้อที่ร้านขายยาจีนที่เขาตากแห้งมาแล้ว ซึ่งแน่นอนมันต้องถูกใช้เป็นยาโดยไม่มีข้อสงสัย
โดยการทดลองนั้น เขาใช้เห็ดหอมญี่ปุ่น (Shiitake) ส่วนแรกวางในร่ม ส่วนที่สองนำไปตากแดดโดยการคว่ำดอก ส่วนที่สามนำไปตากแดดโดยการหงายดอกเพื่อให้ครีบรับแสง ใช้เวลาตากแดดวันละหกชั่วโมงเป็นเวลาสองวัน ซึ่งเมื่อนำมาวัดปริมาณวิตามินดีในเห็ด 100 กรัม ส่วนที่อบในร่มมีปริมาณ 100 IU (International Unit) ส่วนที่ตากแดดแบบคว่ำดอกมีปริมาณ 900 IU และส่วนที่ตากแดดแบบหงายดอกมีปริมาณสูงถึง 46,000 IU ซึ่งสูงกว่าคว่ำดอกมากกว่า 50 เท่า และสูงกว่าแบบอบในร่มมากกว่า 450 เท่า โดยมีข้อสังเกตุว่าถ้าเห็ดเหล่านี้ถูกตากแดดนานเกินไป วิตามินที่พบจะมีปริมาณที่น้อยลง นอกจากนี้ยังมีผลการทดลองของ Robert Beelman จากมหาวิทยาลัยเพนน์เสตท ได้ทำการทดลองโดยใช้เห็ดชนิดเดียวกันที่อบแห้ง นำไปบด แล้วจึงผ่านแสง UVb ความเข้มข้นสูง เป็นเวลา 14 ชั่วโมง เมื่อนำมาวัดค่าพบว่ามีปริมาณสูงถึง 267,000 IU ซึ่งสูงกว่าแบบอบในร่มมากกว่า 2,500 เท่า ซึ่งการทดลองแบบหลังนี้ย่อมมีความยุ่งยากซับซ้อนและสิ้นเปลืองกว่ามาก แต่หากลองคิดว่าการเพิ่มบริเวณผิวสัมผัสโดยการหั่นเห็ดเป็นแผ่นบางๆ ก็เป็นการช่วยเพิ่มพื้นที่ๆช่วยรับแสงเช่นกับการบด แล้วฉายรังสี เท่านี้ก็พอเพียงต่อการเพิ่มประสิทธิภาพให้ได้มากที่สุดโดยแทบไม่ต้องใช้เครื่องมือใดๆ
Paul Stamets ยังได้เสนอวิธีการตากแดดอีกด้วยโดย
1. เลือกเห็ดสดที่ต้องการ
2. นำเห็ดหั่นเป็นแผ่นบางๆ เพื่อเพิ่มผิวสัมผัสรับแสง แล้วตากแดดช่วงเวลา 10 โมงเช้าถึง 4 โมงเย็น เป็นเวลาสองวัน โดยระหว่างวันให้เอากระดาษปิดด้านบนไว้เพื่อป้องกันน้ำค้าง
3. สามารถนำไปอบแห้งต่อเพื่อให้เหลือความชื้นน้อยที่สุด
4. นำไปบรรจุใส่ขวดโหลที่ปิดสนิท โดยอาจใส่ข้าวสารลงไปด้วยเพื่อลดความชื้นในขวด ซึ่งเห็ดที่บรรจุอย่างดีแล้วสามารถเก็บได้มากกว่าหนึ่งปีโดยไม่เสียคุณค่าวิตามิน
5. นำไปรับประทานวันละ 10 กรัม ถ้าจะประกอบอาหารให้แช่น้ำประมาณ 1 ชั่วโมง
http://www.fungi.com/…/place-mushrooms-in-sunlight-to-get-y…