มหัศจรรย์เห็ดเป็นยา

ดร.อานนท์ เอื้อตระกูล
ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส(เห็ด)
องค์การสหประชาชาติ ปี พ.ศ. 2524-2548

เห็ดหิ้งไซบีเรีย (Inonotus obliquus) ตอนที่ 2/2
เป็นเห็ดปาราสิท ที่เกิดขึ้นตามต้นเบริท(Birch) ซึ่งเป็นไม้เนื้ออ่อน โตเร็ว ชอบอากาศหนาวจัด แถวใกล้ขั้วโลกเหนือ หรือภูเขาสูง เช่นที่ประเทศสแกนดิเนเวีย รัสเซีย จีน ภูฎาน แคนาดา โดยปกติต้นเบริทถือว่า เป็นต้นไม้เป็นทั้งยา และเป็นต้นไม้ที่ให้ความหวาน ทั้งนี้เนื่องจากเปลือกของมันมีสารหวาน Xylitol เป็นสารหวานธรรมชาติที่มีความหวานเทียบเท่าน้ำตาลทราย แต่ให้พลังงานน้อยกว่าน้ำตาลทราย 40% จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เพราะถูกดูดเข้าไปในร่างกายได้ช้ากว่า และยังไม่เป็นสาเหตุของโรคฟันผุอีกด้วย โดยปกติ ชาวรัสเซียนิยมกรีดเปลือกไม้เบริท คล้ายๆกับการกรีดยางพารา โดยจะทำการกรีดในช่วงเริ่มต้นของฤดูใบไม้ผลิ คือ ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนเมษายน ก่อนที่ใบไม้จะผลิใบเต็มที่ ช่วงนี้ถือว่าดีที่สุด เพราะจะได้น้ำตาลที่มีรสหวาน มีกลิ่นหอม หลังจากนั้น เมื่อใบของมันเจริญเต็มที่แล้ว น้ำหวานจะมีรสขม

น้ำตาล Xylitol เป็นน้ำตาลที่ได้จากการกรีดหรือเจาะลำต้นของต้นเบริท (ในภาพเป็นสายของน้ำตาลที่ออกมาจากต้นเบริทที่แข็งตัวยามเช้าเมื่ออากาศหนาวเย็นมาก)

ลักษณะดอกของเห็ดหิ้งไซบีเรีย ไม่มีรูปร่างที่แน่นอน แต่ส่วนใหญ่จะมีสีคล้ำค่อนข้างดำ

การเก็บเกี่ยวเห็ดหิ้งไซบีเรีย จะใช้มีดหรือขวานถากหรือสับเข้าไปบริเวณโคนดอกเห็ด

ลักษณะร่องรอยของต้นเบริท เมื่อทำการถากเอาดอกเห็ดแห้งไซบีเรียออกไปแล้ว

ลักษณะของดอกเห้ดหิ้งไซบีเรีบที่เก็บเกี่ยวมาใหม่ๆ

ลักษณะเนื้อข้างในของเห็ดหิ้งไซบีเรีย ส่วนใหญ่จะมีสีเหลืองส้ม

นอกจากเปลือกของต้นเบริทจะมีความหวานแล้ว มันยังมีสารที่มีคุณสมบัติทางยาอย่างดี คือ มีสาร Betulin หรือ Betulinic acid ที่มีคุณสมบัติต่อต้านมะเร็งปอด มะเร็งตับ มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งปากมดลูก รักษาแผลเปื่อย และวัณโรค ดังนั้น เมื่อต้นเบริทเติบโตขึ้น เมื่อมีบาดแผลเกิดขึ้นตามธรรมชาติ มักจะมีเห็ดหิ้งไซบีเรียเกิดขึ้นบริเวณบาดแผล เพื่ออาศัยธาตุอาหารจากต้นเบริทที่ยังมีชีวิตอยู่ จึงถือว่าเห็ดชนิดนี้เป็นปาราสิทของต้นเบริท เห็ดหิ้งไซบีเรีย จัดอยู่เป็นเห็ดในสกุล Hymenochaetaceae มีลักษณะเป็นก้อนแข็งเหมือนไม้ มีสีน้ำตาลเข้ม บางครั้งอาจจะมีขนาดโตมากกว่า 30-40 ซม. น้ำหนักอาจจะมากถึง 20 กก. มีรูปร่างไม่แน่นอน เป็นเห็ดที่ใช้เป็นยามานานนับพันปี ดังจะพบได้ในตำนาน The Shen Nong Ben Cao Jing 100 ปีก่อนคริสตกาล ที่กล่าวถึงเห็ดหิ้งไซบีเรียว่า เป็นสุดยอดของขวัญจากธรรมชาติ “A Precious Gift of Nature” หรือสุดยอดสมุนไพร “The King of the Herbs” ที่ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ รักษาความสมดุลของร่างกายไม่ให้เจ็บไข้ได้ป่วย มีอายุยืน ในช่วงระหว่างศตวรรษที่ 12 พระเจ้า Tzar Vladimir Monamah ก็ใช้เห็ดหิ้งไซบีเรียในการบำรุงร่างกาย ในปี พ.ศ. 2511 Alexandra Solzenitsyn เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ก็ได้บรรยายถึงสรรพคุณของเห็ดหิ้งไซบีเรียว่า เป็นสุดยอดของสมุนไพรที่สามารถสร้างภูมิต้านทานเป็นอย่างดีให้แก่ร่างกาย การศึกษาทางวิชาการกันอย่างจริงจังของเห็ดชนิดนี้ได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายประเทศ ทั้งในรัสเซีย จีน ยุโรป และอเมริกา โดยในปี พ.ศ. 2525 Mr. J. T. Osugi นักเคมี ผู้หันมาเอาดีทางด้านการรักษาโรคทางด้านตะวันออก และเป็นผู้ที่ทำการผลักดันผลงานทางวิชาการเกี่ยวกับเห็ดหิ้งไซบีเรียให้แก่คนทั้งโลกรู้ถึงความเป็นสุดยอดของมัน โดยพบว่า นอกจากเห็ดหิ้งไซบีเรีย ที่อุดมไปด้วยสาร Betulinic acid ที่มันได้จากต้นเบริทแล้ว ยังมีสาร Polyphenolic acid สารที่ทำให้เกิดสีในเห็ดหิ้งไซบีเรีย Chromogenic complex ที่ช่วยสร้างเอ็นไซม์ SOD (Superoxide dismutase) , catalase และ glutathione peroxide ที่เป็นคุณสมบัติเด่นที่สุดของเห็ดนี้ ที่ถือว่าเป็นสุดยอดของอาหารที่มีคุณสมบัติต่อต้านสารอนุมูลอิสระ โดยค่าของการวัดความสามารถในการต่อต้านอนุมูลอิสระที่กำหนดโดย USDA นั้น ได้กำหนดค่าเป็นหน่วย ORAC (Oxygen Radical Absorbent Capacity) โดยพบว่า เห็ดหิ้งไซบีเรียมีค่า ORAC สูงถึง 1104 หน่วย หากเทียบกับผักหรือผลไม้ที่อ้างกันว่ามีสารป้องกันอนุมูลอิสระได้สูง เช่น ทับทิม บลูเบอรี่ (Blueberries)ใบแป๊ะก๊วย(Gingko biloba) หรือแม้กระทั่งใบมะรุม ที่กำลังเป็นข่าวโด่งดังมะรูมมะตุ้มกันอยู่ในสังคมไทยปัจจุบัน ที่มีค่า ORAC สูงไม่เกิน 200 หน่วยเท่านั้น หรือเทียบกับเห็ดต่างๆพบว่า เห็ดหิ้งไซบีเรียมีค่า ORAC สูงกว่าเห็ดถั่งเช่าและเห็ดไมตาเก๊ะมากกว่า 4 เท่า สูงกว่าเห็ดกระดุมบราซิลมากกว่า 40 เท่า มากกว่าเห็ดหลินจือถึง 10 เท่า ดังตารางที่แนบมานี้