นับตั้งแต่ผมเข้าวงการเห็ดของประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2516 ซึ่งขณะนั้น ประเทศไทยมีเฉพาะ เพาะเห็ดฟางแบบเลียนแบบธรรมชาติเท่านั้น เมื่อมีการรวมตัวกันของนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งชมรมเห็ดในรั้วมหาวิทยาลัยขึ้นมา ได้เริ่มมีการนำเอาองค์ความรู้ ที่ได้จากการวิจัยของปรมาจารย์ด้านเห็ด เช่น จาก ดร.ก่าน ชลวิจารณ์ อาจารย์พันธุ์ทวี ภักดีดินแดน ที่ได้นำเอาเห็ดหอยนางรม(ตอนหลังตัดเอาหอยออก เหลือเป็นเห็ดนางรม)มาจากอเมริกาเมื่อปี 2499 มาทำการวิจัย โดย ดร.วินิต แจ้งศรี ได้ทำการเพาะเห็ดนางรมเป็นการค้าเมื่อปี 2500 เพื่อผลิตเห็ดสดส่งภัตตาคารอาหารจีน “พงหลี” ย่านอนุสาวรีย์ ข้อมูลส่วนใหญ่ถูกเก็บไว้ในลิ้นชักหรือเป็นธุรกิจลับเฉพาะตัว เมื่อมีการตั้งชมรมเห็ด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ขึ้น จึงเริ่มดำเนินการส่งเสริมการเพาะเห็ดทั้ง เห็ดฟางจากเพาะแบบกองสูงมาเป็นแบบกองเตี้ย และเพาะเห็ดนางรมในถุงพลาสติกทนร้อนด้วยการใช้ซังข้าวโพดบดผสมขี้เลื่อย รำละเอียด ปูนขาว นำไปนึ่งด้วยถังสองร้อยลิตรที่มีฝา ภายในมีตะแกรงสำหรับใส่น้ำเฉกเช่น ลังถึง ซึ่งหาได้ง่าย ราคาถูก ทำให้ผู้ที่สนใจที่จะทำการเพาะเห็ดแนวใหม่สมัยนั้นตื่นตัวกันอย่างมาก จากวันนั้นเป็นต้นมา การเพาะเห็ดในประเทศไทยได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ได้มีการพัฒนาระบบการนึ่ง การทำหม้อนึ่งที่ดีกว่าการใช้ถังสองร้อยลิตร ทำการนึ่งแต่ละครั้งได้มากกว่าและประหยัดค่าเชื้อเพลิงได้มากกว่า แต่ก็ดูเหมือนการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เกิดขึ้นในช่วงต้นๆเท่านั้น ปัจจุบัน การพัฒนาประสิทธิภาพของการอบหรือนึ่งก้อนเห็ดแทบจะไม่มีเลย นอกจากอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ รูปร่างหรือวัสดุที่ใช้ในการทำตู้หม้ออบเท่านั้น


ผมเองในฐานะที่เป็นผู้ริเริ่มบุกเบิกวงการเห็ดของไทยรายหนึ่ง และได้รับความไว้วางใจจากองค์การสหประชาชาติให้ไปเป็นผู้เชี่ยวชาญเห็ดทั้งในเอเซียและแอฟริกามานานกว่า 20 ปี ผมทราบดีว่า ต้นทุนสำคัญในการผลิตก้อนเห็ดนั้น อุปกรณ์การนึ่งมีส่วนสำคัญมาก เพราะมันคือ ต้นทุนทางตรงที่ผู้เพาะเห็ดจะต้องสูญเสีย ที่ผ่านมา ไม่ว่า จะเป็นหม้อนึ่งหรือตู้อบที่ใช้กัน ส่วนใหญ่ทำจากแผ่นเหล็ก หรือบางรายอาจจะใช้แผ่นยาง ซึ่งความร้อนกว่า 30% จะสูญเสียไปตรงบริเวณพื้นผิวของอุปกรณ์การนึ่ง สังเกตจากขณะที่ทำการนึ่ง จะร้อนมาก เมื่อปี 2525 ตอนที่ผมไปฝึกงานอยู่ที่บริษัท Somycel ผู้ผลิตหัวเชื้อเห็ดรายใหญ่ของประเทศฝรั่งเศส ผมได้เห็นเขาก่อสร้างห้องอบปุ๋ยสำหรับเพาะเห็ดฝรั่งโดยใช้อิฐมวลเบา พบว่า อิฐมวลเบาเป็นฉนวนที่ดี แม้อาจจะน้อยกว่าโฟม แต่ก็ดีกว่าเหล็ก โดยความร้อนสูญเสียน้อยมาก ไม่ถึง 7% แต่เนื่องจากสมัยนั้นบ้านเรายังไม่รู้จักอิฐมวลเบา จนกระทั่ง เมื่อปี 2549 ผมได้นำเอาอิฐมวลเบา(ซื้อก้อนที่ไม่ได้มาตรฐานราคาถูกกว่าเยอะ)เอามาก่อทำเป็นห้องอบฆ่าเชื้อทั้งใช้กับเห็ดฟางและเห็ดถุง พบว่า สามรรถลดต้นทุนด้านเชื้อเพลิงลงมากกว่า 70% จึงได้แนะนำให้กลุ่มผู้เพาะเห็ดที่จันทบุรี ซึ่งก็ได้ผลเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ผมได้เดินทางไปดูงานการเพาะเห้ดในต่างประเทศบ่อยครั้ง ได้ไปเห็นความก้าวหน้าในการพัฒนาเรื่องเห็ดในหลายประเทศ ที่น่าทึ่งที่สุด คือ ที่ประเทศจีน โดยเขาแทบไม่ต้องทำหม้อนึ่งหรือโรงอบเลย ทำแค่ที่ต้มน้ำเหมือนกับกระทะแบนสูงประมาณ 12 ซม.เท่านั้น เวลาจะนึ่งอะไร ก็เอามากองสุมกันไว้บนที่ต้มน้ำ แล้วก็เอาผ้าเต้นท์คลุมเพื่อป้องกันไม่ให้ไอน้ำระเหยออกเร็วไป วิธีนี้ แม้ว่าต้นทุนของอุปกรณ์การอบจะถูก แต่ความร้อนก็ยังระเหยออกไปตรงผิวของผ้าหรือวัสดุคลุมอยู่



เมื่อได้รู้ทั้งจุดอ่อนและจุดแข็งในเรื่องการนึ่ง ที่ผมใช้เวลาในการรวบรวมข้อมูลและประสบการณ์มา ประกอบกับได้รับความร่วมมือจากบริษัททีพี มาช่วยกันคิด ช่ว ยกันทำห้องอบต้นแบบ ที่มีเครื่องกำเนิดไอน้ำหรือต้มน้ำอยู่ในตัวด้านล่าง ส่วนตัวตู้ใช้ผนังห้องเย็นที่ภายในเป็นโฟม ได้ทำการทดลองทำจากของจริง โดยการใช้ก้อนเห็ดบรรจุเข้าไปในตู้ขนาด 2x2x2 เมตรได้ 2,000 ก้อน(รวมทั้งที่ฝากด้านบน) ทำการนึ่งเปรียบเทียบทั้งถังสองร้อยลิตร หม้อนึ่งแบบเหล็ก ตู้อบที่สร้างด้วยอิฐมวลเบา และตู้อบที่พัฒนาใหม่ พบว่า ตู้อบที่พัฒนาใหม่นั้น ประสิทธิภาพการนึ่งดีกว่า เร็วกว่า ใช้เชื้อเพลิงน้อยกว่า และเนื่องจากผนังแบบห้องเย็นนั้น คุณร้อนภายในห้องแทบไม่หายไปไหน ดังนั้น เมื่อหยุดการต้มแล้ว ห้องนี้ ยังเก็บความร้อนได้เป็นอย่างดี(ทำหน้าที่ตุ๋น) หลังจากอบได้ที่ที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียสแล้ว ปิดห้องไว้ 24 ชม. อุณหภูมิลดลงเพียง 3-5 องศาเซลเซียสเท่านั้น ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงลดลงเกินครึ่ง หากเทียบกับถังสองร้อยลิตร หรือหม้อนึ่งที่ใช้แผ่นเหล็ก ด้วยเหตุนี้ การอบรมเห็ดในถุงครั้งต่อไป(ที่จะเปิดขึ้นเร็วๆนี้) จะเน้นเรื่องการนึ่งด้วยวิธีที่มีประสิทธิภาพนี้ด้วย

ใส่ความเห็น