• ประวัติ

 

ศูนย์ประชาสัมพันธ์ อานนท์ไบโอเทค

เป็นสถานที่สำหรับจัดการฝึกอบรมการเพาะเห็ดทั้งภาคทฤษฎีและการฝึกปฏิบัติ โดยศูนย์ดังกล่าวจะเป็นองค์กรที่ถือได้ว่าบุกเบิกเรื่องเห็ดที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย เป็นองค์กรที่ทำการค้นคว้า ศึกษาวิจัยและพัฒนาทางด้านวิชาการเรื่องของเห็ดมาอย่างต่อเนื่องและช้านาน นอกจากนั้น ยังเป็นองค์กรที่ริเริ่มและเป็นผู้นำทางด้านการผลิตและพัฒนาเทคนิคใหม่ๆ เกี่ยวกับการเพาะเห็ดเศรษฐกิจ การทำเห็ดเป็นยา และการแปรรูปเห็ด

ดร.อานนท์ เป็นบุคคลที่ทุ่มเทการทำงานด้านเห็ดมาก ได้ทำการศึกษา ค้นคว้า วิจัย ทดลองการเพาะเห็ดอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นตำราในประเทศไทยหรือตำราของต่างประเทศก็ตาม เป็นบุคคลที่สนใจถึงลักษณะทางธรรมชาติของเห็ดทุกชนิด ทุกสายพันธุ์ของทุกประเทศทั่วโลก

นอกจากนั้น ท่านยังได้เดินทางไปประชุมสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเห็ดกับผู้เชี่ยวชาญของนานาประเทศอยู่ตลอดเวลา และจากวัยเยาว์ที่ท่านต้องช่วยเหลือครอบครัวที่เพาะเห็ดฟางเป็นอาชีพเสริม จนถึงวันนี้ท่านได้สะสมความรู้ลักษณะที่เป็นการเฉพาะของเห็ดแต่ละชนิด แต่ละสายพันธุ์ ได้จำแนกข้อดี ข้อเสียเกี่ยวกับเห็ดเป็นจำนวนมาก 

จากที่ผ่านมา คนทั่วไปหลายคนขาดความรู้ความเข้าใจที่แท้จริงเกี่ยวกับการเพาะเห็ด ก็ลงมือปฏิบัติอย่างผิดๆ ถูกๆ ทำให้เสียเงินเสียทอง เสียเวลาไปอย่างน่าเสียดายและไม่รู้จะไปพึ่งใคร ดังนั้น ท่านจึงมีเจตนารมณ์อันแน่วแน่ที่จะนำความรู้ไปเผยแพร่ให้กับผู้ที่มีใจรักเห็ดและมีความประสงค์จะเพาะเห็ดเป็นอาชีพ แต่ขาดการชี้แนะอย่างถูกต้อง ด้วยเหตุนี้ ในปี 2517 จึงได้ตั้งชมรมผู้เพาะเห็ดสมัครเล่นขึ้นที่ถนนงามวงศ์วาน (ซึ่งเป็นร้านแดรี่ ควีน ในปัจจุบัน) จากนั้นได้ย้ายไปอยู่ฝั่งตรงข้ามประตูใหญ่ ด้านพหลโยธิน ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถึงปัจจุบัน ชื่อชมรมเห็ดสากล โดยทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นเกี่ยวกับเห็ด ขณะเดียวกันก็เป็นสถานที่ผลิตหัวเชื้อให้แก่บรรดาสมาชิก รวมถึงเป็นศูนย์กลางรวบรวมวัสดุอุปกรณ์ไว้บริการด้วย กิจกรรมของชมรมก็ดำเนินการเรื่อยๆ พร้อมกับสมาชิกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จึงเป็นเหตุผลให้ ดร.อานนท์เปิดสถานที่ฝึกอบรมการเพาะเห็ดชื่อ ศูนย์ไทยไบโอเทค ที บี ซี ขึ้นในปี 2538 ซึ่งเป็นส่วนที่ไม่ได้หวังผลทางธุรกิจ แต่เน้นเฉพาะทางด้านวิชาการอย่างเดียว และเป็นหน่วยงานที่ให้ความรู้ด้านเห็ดแก่บุคคลทั่วไปและกลุ่มคณะต่างๆ จากทั่วประเทศ โดยจัดอบรมขึ้นประมาณเดือนละครั้ง และผู้ที่สนใจจะต้องมาลงชื่อลงทะเบียนไว้กับทางศูนย์ไทยไบโอเทคซึ่งเป็นสำนักงานที่ตั้งอยู่ที่ตลาดไทก่อน เมื่อเจ้าหน้าที่ของศูนย์รวบรวมจำนวนคนที่จะเข้าอบรมได้ตามที่ต้องการ (ประมาณ 20 คน ต่อครั้ง) ก็จะติดต่อกลับเพื่อแจ้งวันที่อบรม ซึ่งการอบรมจะใช้เวลาเพียงแค่วันเดียวเท่านั้น

?สมัยก่อนอบรมครั้งละ 200 กว่าคน แต่ปัจจุบันต้องการเพียงแค่ครั้งละ 20 คนเท่านั้น เพราะเป็นการอบรมแนวใหม่ กล่าวคือไม่ต้องจดเลย สอนแนวคิดที่ไม่ยึดมั่นถือมั่น สอนให้เข้าใจในความเป็นธรรมชาติของเห็ด จะเห็นได้ว่าเมื่อก่อนมีการเพาะเห็ดเฉพาะในถุง แต่เดี๋ยวนี้เพาะที่ไหนก็ได้ เพาะกับอะไรก็ได้ทั้งนั้น? ดร.อานนท์ กล่าว

เรื่องการจัดอบรมได้จัดให้กับผู้สนใจมาตั้งแต่ปี 2516 แล้ว ส่วนที่มาทำเป็นจริงจังที่ศูนย์แห่งนี้เมื่อปี 2538 อย่างล่าสุดก็มีหน่วยงานจากทั่วประเทศที่เป็นหมู่คณะติดต่อมาจัดอบรมให้ ซึ่งทางศูนย์ก็ยินดี เพราะหลังจากที่ผ่านการอบรมไปแล้วก็ยังคงต้องเป็นที่ปรึกษาช่วยเหลือและให้ข้อมูลด้านต่างๆ อีกต่อไป

ส่วนด้านเนื้อหาของการอบรมที่เป็นลักษณะขั้นตอนหรือทฤษฎีต่างๆ จะอบรมเหมือนกันทุกกลุ่ม หากจะแตกต่างกันก็ในเรื่องของพันธุ์เห็ดที่แต่ละภูมิภาคของประเทศไม่เหมือนกัน โดยจะเป็นการให้ความรู้เพื่อให้สอดคล้องกับภูมิภาคนั้นๆ แต่ถ้าต้องการอบรมทุกเรื่อง ทางศูนย์ก็ยินดีสอนให้ทุกอย่าง

อย่างกรณีของที่จังหวัดกระบี่ ทางกลุ่มต้องการให้สอนเห็ดฟาง เพราะทุกวันนี้ที่กระบี่เพาะเห็ดฟางส่งมาให้ที่ร้านสุกี้ เอ็ม เค ที่กรุงเทพฯ โดยส่งมาทางเครื่องบิน ในอดีตทางใต้ไม่มีการเพาะเห็ดอย่างเพียงพอ จึงต้องนำเห็ดจากจังหวัดเพชรบุรีเพื่อส่งไปขายทางภาคใต้ หลังจากที่ ดร.อานนท์กลับมาจากกานา ก็ได้ใช้ทะลายปาล์มมาเพาะเห็ดและก็ได้นำวิธีนี้มาสอนคนที่ทางภาคใต้ ปัจจุบันทางภาคใต้กลายเป็นแหล่งผลิตเห็ดฟางที่ใหญ่ที่สุดและส่งมาขายในภาคกลางเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม กรรมวิธีในการเพาะยังไม่ทันสมัย ทางศูนย์ก็ได้ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันศูนย์ได้ดำเนินการในเชิงธุรกิจ ควบคู่ไปกับงานบริการด้านวิชาการและการตลาด โดยล่าสุดเน้นการผลิตเห็ดเป็นยาเพื่อส่งออก