เมื่อปี 2538 ผมได้ไปดูนิทรรศการในงานเกษตรแห่งชาติ ที่บางเขน ได้มีโอกาสเยี่ยมชมบูธนิทรรศการของกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่นำเอาชีวภัณฑ์ในการป้องกันและปราบศัตรูพืช คือ เชื้อราไตรโคเดอร์ม่าหรือราเขียวชนิดหนึ่ง ที่สามารถป้องกันและทำลายโรคพืชได้หลายชนิดอย่างมีประสิทธิภาพและดีกว่าการใช้ยา ผมฟังเจ้าหน้าที่บรรยายแล้ว ผมก็ยังไม่เชื่อ ประกอบกับราเขียว คือ ศัตรูอันร้ายกาจที่ผู้เพาะเห็ดกลัวกันนักหนา เพราะ มันทำลายก้อนเชื้อ รวมทั้งดอกเห็ดด้วย

แต่พอผมขอตัวอย่างมา นำมาทำการศึกษาอย่างจริงจัง พบว่า เชื้อราไตรโคเดอร์ม่านี้ เป็นคนละตัวกับราเขียวศัตรูเห็ด กล่าวคือ มันมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Trichoderma harzianum  ที่เป็นราชั้นสูงไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อเห็ด แถมยังช่วยป้องกัน ยับยั้งเชื้อราชนิดอื่นที่เป็นศัตรูเห็ด และช่วยย่อยธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อเห็ดอีกด้วย ส่วนราเขียวที่เป็นศัตรูต่อเห็ดส่วนใหญ่คือ ราเขียวที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Gliocladium sp. และ Penicillim sp.

ดังนั้น ผมจึงได้นำเอาเชื้อไตรโคเดอร์ม่ามาใช้ผสมคลุกเคล้ากับวัสดุเพาะเห็ดที่ใช้แล้ว หรือหมดอายุแล้ว เพื่อทำเป็นปุ๋ยของพืช พบว่า มันช่วยทำให้เป็นปุ๋ยได้เร็ว นำเอาไปใช้กับการปลูกพืชได้ผลดี ที่สำคัญพบว่า เกษตรกรที่นำเอาปุ๋ยที่ได้จากวัสดุเพาะเห็ดผสมเชื้อราไตรโคเดอร์ม่าเอาไปใส่พืชแล้ว พืชจะไม่เป็นโรคที่เคยเป็น เช่น โรครากเน่าในพริก ในผักและในสวนผลไม้ รวมทั้งสวนองุ่น

ทั้งนี้ เนื่องจาก เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า มันจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วในดิน เข้าไปยึดหัวหาดก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้ออย่างอื่น หรือเชื้อคู่แข่ง ที่ส่วนใหญ่เป็นสาเหตุของโรคพืช เช่น เชื้อรา Pythium spp. สาเหตุโรคกล้าเน่าหรือโรคเน่าคอดิน เชื้อรา Phytophthora spp. สาเหตุโรครากและโคนเน่า เชื้อรา Rhizoctonia spp. สาเหตุโรครากและลำต้นเน่า เชื้อรา Sclerotium spp. สาเหตุโรครากและลำต้นเน่า เชื้อรา Fusarium spp. สาเหตุโรคเหี่ยว นอกจากมันจะเข้ายึดหัวหาดแล้วสร้างสารพิษในการป้องกันเชื้ออย่างอื่นเข้ามาในพื้นที่ของมันแล้ว หากพื้นที่นั้น มีเชื้อราอย่างอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เชื้อราที่เป็นสาเหตุโรคดังได้กล่าวมาแล้ว เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า ก็จะสร้างเอ็นไซม์หรือน้ำย่อยเข้าไปกอดรัดเส้นใยเชื้อราคู่แข่งพร้อมทั้งสร้างเส้นใยและน้ำย่อยดูดทำลายเชื้อคู่แข่งได้

ด้วยเหตุนี้ สามารถกล่าวได้ว่า เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า เป็นทั้งยามเฝ้าบ้าน และทหารผู้พิฆาตเชื้อราชนิดอื่นที่เป็นสาเหตุของโรคร้ายในพืชได้โดยแท้ นอกจากนี้ มันยังทำหน้าที่ที่สำคัญที่สุดอีกประการหนึ่ง คือ มันจะสร้างกรดอ่อนๆขึ้นมา เพื่อละลายธาตุอาหารในปุ๋ยหรือในดิน เช่น ธาตุฟอสฟอรัส ให้อยู่ในรูปที่พืชและเห็ดนำเอาไปใช้ได้ดียิ่งขึ้น

ในปี 2539 ทางอานนท์ไบโอเทค จึงได้ทำการผลิตปุ๋ยหมักจากวัสดุเพาะเห้ดแล้วผสมเชื้อไตรโคเดอร์ม่าจำหน่าย ซึ่งได้รับความสนใจจากเกษตรกรเป็นอย่างดี เกษตรกรแถวบ้านแพ้ว ดำเนินสะดวก ที่ปลูกองุ่น โดยปกติแล้ว การปลูกองุ่นในพื้นที่เดิมนั้น ประมาณ 4-5 ปี ผลผลิตจะลดลงอย่างเห็นได้ชัด และจะมีโรครากเน่าเกิดขึ้นเสมอ เกษตรกรมักนิยมถอนต้นองุ่นทิ้ง เพื่อสลับไปปลูกพืชอย่างอื่นสักปีสองปี แล้วจึงจะกลับมาปลูกองุ่นได้อีก เป็นการตัดวงจรของโรคพืช แต่ปรากฏว่า เกษตรกรที่ใช้ปุ๋ยหมักจากเห็ดที่ใช้แล้ว ผสมเชื้อราไตรโคเดอร์ม่า พบว่า ต้นองุ่นยังแข็งแรงดี แม้ปลูกมานานกว่า 5 ปีแล้ว ดินรอบๆโคนต้นที่ใส่ปุ๋ยหมักดังกล่าวร่วนซุย ไม่แข็งจนกลายเป็นดินดาน รากของต้นองุ่นยังแข็งแรง ผลผลิตยังอยู่ในเกณฑ์ที่สูงเป็นที่น่าพอใจ โดยเกษตรกรไม่จำเป็นจะต้องถอนต้นองุ่น เพื่อไปปลูกพืชสลับอีกต่อไป เช่นเดียวกับแปลงผัก สวนพริก และสวนผลไม้ที่ใช้ปุ๋ยหมักจากวัสดุเพาะเห็ดแล้วผสมเชื้อราไตรโคเดอร์ม่า แทบจะไม่มีปัญหาเรื่องโรคของพืชอีกต่อไปเลย

ระหว่างวันที่ 18-19 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา ผมได้เข้าร่วมรับการอบรมเรื่องการปลูกพืชระบบไฮโดรโพนิกส์ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ท่านอาจารย์ ดร.จิระเดช แจ่มสว่าง แห่งภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กำแพงแสน ได้ทำการคัดเลือกเชื้อราไตโคเดอร์ม่าสายพันธุ์ไทย ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ที่สำคัญที่สุด ที่เป็นนวัตกรรมใหม่สำหรับผู้ปลูกพืชในระบบไฮโดรโพนิกส์ ที่ได้นำเอาเชื้อราไตรโคเดอร์ม่ามาทดลองใช้ คือ ท่านอาจารย์ ดร.ยงยุทธ เจียมไชยศรี พบว่า เชื้อราไตรโคเดอร์ม่าช่วยแก้ปัญหาโรครากเน่าในผักที่ปลูกในระบบนี้ได้เป็นอย่างดี และยังช่วยป้องกันการเกิดตะกรันตามรางปลูก และแผ่นอีแว้ปได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

จากเหตุผลและข้อมูลที่ทางอานนท์ได้เป็นผู้ผลิตปุ๋ยหมักจากวัสดุเพาะเห็ดแล้วผสมเชื้อราไตรโคเดอร์ม่ามาตั้งแต่ปี 2539 นั้น บัดนี้ ได้เปลี่ยนมาใช้หัวเชื้อราไตรโคเดอร์ม่า สายพันธุ์ของท่านอาจารย์ ดร.จิระเดช แจ่มสว่าง ผ่านความกรุณาประสานงานโดยท่านศาสตราจารย์ ดร.จริยา จันทร์ไพแสง

ผู้สนใจเชื้อราไตรโคเดอร์มาสายพันธุ์ไทย ผลิตโดยสถาบันอานนท์ไบโอเทค สามรถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ 029083308, 0860830202 line: mushroom10

One Comment

ใส่ความเห็น