เห็ดแครงในกากมันสำปะหลัง และการใช้ชีวภาพกำจัดแมลง

ดร.อานนท์ เอื้อตระกูล

on Mon Sep 20, 2010 10:02 am

                   เรื่องของเห็ดแครงนั้น กำลังเป็นเห็ดที่มีคนสนใจมากอีกเห็ดหนึ่ง ที่สำคัญราคาสูงมาก ที่ขายกันอยู่ในกรุงเทพราคาสูงกว่า กก.ละ 300 บาท เป็นเห็ดที่คนภาคใต้ และภาคเหนือนิยมบริโภคกันมาก คุญสมบัติที่สำคัญอีกประการคือ หากทานสดไม่หมด สามารถตากให้แห้ง เก็บไว้ได้นานเป็นปีได้ เมื่อไหร่ก็ตาม ที่จะนำมาปรุงอาหาร เพียงแต่นำมาแช่น้ำ ก็จะคืนความสดเหมือนเดิม ในต่างประเทศหลายประเทศ เช่น มาเลเซีย ญี่ปุ่น อเมริกา ต่างก็นำไปสกัดเอาสาร    Schizophyllan  ที่มีคุณสมบัติในการยับยั้งเซลมะเร็งในปากมดลูกอย่างดี   คนไทยก็ต้องไปซื้อยานี้จากต่างประเทศ ที่เขาเอาเห็ดเราไปสกัด พร้อมทั้งจดทะเบียนลิขสิทธิ์ เพื่อป้องกันไม่ให้คนที่เป็นผู้เพาะเห็ดอย่างเรา เอาไปผลิตเป็นยาแข่งกับเขา
                เห็ดแครงสามารถเพาะได้ทางภาคกลางและภาคใต้ตลอดทั้งปี ส่วนภาคอื่นๆ ยกเว้นฤดูหนาวก็เพาะได้ผลเป็นอย่างดี แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่า เห็ดแครงมีกลิ่นหอมมาก ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่เส้นใยเจริญเติบโต หรือขณะที่เกิดดอก ในช่วงที่ดอกเห็ดเจริญเติบโต เห็ดแครงจะมีกลิ่นพิเศษเฉพาะตัว ที่ค่อนข้างรุนแรง และเป็นที่ดึงดูดบรรดาแมลงต่างๆเข้ามากัดกินดอกเห็ดและเส้นใยเห็ดได้ การเพาะเห็ดแครงโดยทั่วไป มักใช้ขี้เลื่อย หรือขี้เลื่อยผสมข้าวฟ่าง ซึ่งได้ผลผลิตสูงพอสมควร แต่จะออกดอกแค่ครั้งสองครั้งก็หมด แต่ ได้รับคำยืนยันว่า เห็ดแครงสามารรถเพาะได้ แม้ในต้นหรือซังข้าวโพด และที่น่าสนใจ คือ กากมันสำปะหลัง ที่เส้นใยเจริญได้ดี ไม่เกิดดอกก่อนกำหนด ให้ผลผลิตดี ขนาดดอกใหญ่ ให้ผลผลิตหลายครั้ง แม้ก้อนโทรมแล้ว นำไปฝังดิน ก็ยังมีเห็ดแครงเกิดขึ้นอีก

 การใช้  Metazhizium anisophiae และ Beauveria bassiana ในการกำจัดแมลงในโรงเพาะเห็ด
                เนื่องจาก โลกของเราอยู่ในขั้นวิกฤติมาก เพราะอัตราการเจริญของพลเมืองของโลก มันโตอย่างรวดเร็ว สวนทางกับปริมาณอาหารที่เราทำการผลิต จึงได้มีการโหมทำการผลิตอาหารกันอย่างไม่ลืมหูลืมตา ในอดีตธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต มันมีการปรับตัวและควบคุมปริมาณกันอย่างสมดุลย์ แต่ปัจจุบัน เราไปทำลายสภาพแวดล้อม และนำสารเคมีอันตรายมาใช้ในการผลิตอาหาร ไม่ว่าจะเป็นยาฆ่าแมลง ฆ่าเชื้อโรค แทนที่ปัญหาต่างๆจะลดลง กลับเกิดปัญหาเพิ่มขึ้นหลายเท่าทวีคูณ บางครั้งเกิดปัญหา โรคหรือแมลงระบาด จนไม่สามารถควบคุมได้ ทั้งหลายทั้งหมด ก็เกิดจากความเข้าใจ คิดว่า สารเคมี ที่ใช้ทำลายศัตรูพืช ที่ใช้แล้ว เห็นผลอย่างรวดเร็วนั้น มันไม่เป็นนเช่นนั้นเสียแล้ว จริงๆอยู่ เราอาจจะเห็นปริมาณ มด ปลวก หนอน แมลงวัน แมลงสาบ ยุง ตายทันที เมื่อเราฉีดสารเคมีเข้าไปถูกตัวมัน จริงๆแล้ว อาจจะมีแมลงอีกบางส่วนที่อาจจะได้รับสารเคมีไม่มาก อาจจะไม่ตาม หรือถูกทำลาย มันจะสร้างภูมิต้านทานขึ้นมาสู้ ทำให้เกิดการดื้อยาได้ แล้วมันจะแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว แม้เราจะฉีดสารเคมีเพิ่มมากขึ้นเพียงไร นี่แหละ คือ ผลจากการศึกษาของระบบการศึกษาสมัยใหม่ โดยลืมไปว่า ที่จริงธรรมชาติเอง ก็มีการควบคุมปริมาณของสิ่งมีชีวิตต่างๆให้อยู่ในภาวะสมดุลย์มานับล้านปีแล้ว เพียงแต่เราไม่ได้สนใจมัน เราเพิ่งมาสนใจแบบขาดสติกันเมื่อไม่นานมานี้
               โดยเฉพาะเรื่องของเห็ดถั่งเช่า ที่ออกอากาศในทีวี ไทยทีวี เวลา 5 ทุ่มครึ่ง ของวันที่ 19 กันยายน 2010  โดยฮือฮากันว่า เป็นเห็ดที่กินเข้าไปแล้วบำรุงกำลังและรักษาโรคได้สารพัด มีการปั่นราคา จากของที่น่าขยะแขยงและไม่มีราคาเลยในอดีต ปัจจุบันราคาสูงกว่าทองคำเสียอีก จริงๆแล้ว นั่นคือ การควบคุมสิ่งมีชีวิตด้วยกันไม่ให้พวกใดพวกหนึ่งมีมากเกินไป กล่าวคือ ที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลกว่า 4,000 เมตรขึ้นไป มีสภาพอากาศเบาบาง และมีพืชและสัตว์เพียงไม่กี่ชนิดอาศัยอยู่ ส่วนใหญ่เกือบตลอดปีมีอากาศหนาวเย็น และหิมะปกคลุม มีเฉพาะบางเดือนในช่วงระยะเวลาสั้นๆเท่านั้น ที่หิมะจะละลายและอากาศอบอุ่น ก็จะมีพืชพรรณต่างๆเจริญงอกงามขึ้นมาอย่างรวดเร็ว และก็จะมีหนอนและแมลง รวมทั้งเชื้อจุลินทรีย์ ก็เจริญขึ้นมาอย่างรวดเร็วเช่นกัน ในเมื่อหนอนถูกฟักออกมาเป็นตัวเข้าไปกัดกินพืชพันธุ์ต่างๆอย่างรวดเร็ว อาหารจะขาดแคลน หรือหนอนบางตัวไม่แข็งแรง ก็จะถูกทำลายจากเชื้อโรค อันได้แก่ เชื้อรา แบคทีเรีย และไวรัส สำหรับหนอน จากผีเสื้อตระกูล   Hepialus ซึ่งมีอยู่มากในพื้นที่ที่สูงเช่นนี้ จะมีเชื้อราพวกหนึ่งที่ชื่อว่า Hirsutella sinensis ชอบเข้าทำลายหนอนดังกล่าวที่อ่อนแอ (มันเข้าไปได้ อาจจะด้วยการที่หนอนกินสปอร์ของราชนิดนี้เข้าไป หรือหนอนเข้าไปสัมผัสถูกเส้นใยของรา โดยราจะสร้างน้ำย่อยเจาะเข้าไปในตัวหนอนผ่านผนังเซลที่บอบบาง เช่น ขอบตา รูขน รูระบายอากาศหรือหายใจ เป็นต้น) เมื่อมันตายลง และอากาศอุ่นขึ้น เส้นใยของราก็จะรวมตัวกันสร้างก้านชูขึ้นมาคล้ายกระบอง ที่เราเรียกว่า เห็ดถั่งเช่าที่มีราคาแพงนั่นเอง นี่เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างเท่านั้นเอง ที่แสดงให้เห็นว่า โดยธรรมชาติแล้ว มันยังมีจุลชีพ   (หมายความว่า มันยังมีเชื้อรา แบคทีเรีย ไวรัส หรือแม้แต่ใส้เดือนฝอย ที่ชอบเข้าไปอาศัยในแมลงต่างๆ รวมทั้งตัวหนอน ตัวดักแด้ พอมันเพิ่มปริมาณของมันในร่างกายของแมลงหรือหนอนได้มากขึ้น มันก็จะเข้าไปทำลายระบบต่างๆภายใน หรือสร้างสารพิษขึ้นมาทำลายแมลงเหล่านั้น ให้ป่วยและตายไปในที่สุด

             ตรงนี้แหละที่ ผมเสียดายที่เมืองไทยเรานั้น ให้ความสนใจเรื่องนี้น้อยมาก เพราะเรามัวไปตามหลังฝรั่งมังค่าเขา และมันเป็นเรื่องของผลประโยชน์ของนักการเมืองและข้าราชการขี้ฉ้อบางคน   ทำให้เมืองไทยจึงได้รับข้อมูลเพียงฝั่งเดียวว่า เมื่อเกิดโรค หรือแมลงแล้ว ต้องใช้สารเคมี ที่มีผู้ได้ผลประโยชน์มหาศาลอยู่เบื้องหลัง    เดี๋ยวนี้ โลกทั้งโลก ยกเว้นเมืองไทย เขาหันไปใช้จุลชีพนี่แหละครับ ในการควบคุมโรค แมลงศัตรูพืช และสัตว์ เช่น เพลี๊ยแป้งที่กำลังระบาดอย่างหนักในประเทศไทยขณะนี้ จนทำให้ผลผลิตมันสำปะหลังลดลงอย่างน่าใจหาย เพลี๊ยกระโดด เพลี๊ยจักจั่น หนอนกอ หนอนฝ้าย นอนอ้อย ด้วงมะพร้าว ยุงสารพัดชนิด มด ปลวก แมลงหวี่ แมลงวัน แมลงในเห็ด    เห็ด หมัด โดยเขาใช้เชื้อจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ ไม่เป็นโรค หรือเป็นพิษภัยต่อผู้ใช้ หรือไม่มีผลทำลายสภาพแวดล้อมเหมือนการใช้สารเคมี อย่างเช่น บราซิล เขาใช้เชื้อรา Metarhizium spp และ Beauveria spp  ฉีดพ่น เพื่อลดปริมาณด้วง หนอน ที่เข้าทำลายไร่กาแฟ ได้ผลดีกว่าการใช้สารเคมี และอยู่ได้นานกว่า ประเทศอินเดียก็เช่นกัน ใช้กันอย่างกว้างขวาง ที่เวียตนาม มีนักวิทยาศาสตร์สาวสวย(ผมกำลังตามหาตัวเป็นๆอยู่) ก็เป็นผู้รณรงค์ในเรื่องนี้ จนกระทั่งเวียตนามลดการนำเข้าสารเคมีได้อย่างมหาศาล เช่นเดียวกับจีนและอีกหลายๆประเทศในแอฟริกา และลาตินอเมริกาก็ใช้กันอย่างกว้างขวาง    การใช้เชื้อทั้งสองอย่างควบคุมแมลงในโรงเห็ดได้ผลแต่อย่าไปใช้ใกล้กับแหล่งผลิตเชื้อเห็ดบริสุทธิ์ หรือผลิตก้อนเชื้อ เพราะมันจะเจริญได้ดีกว่า เชื้อเห็ด จนกลายเป็นศัตรูเห็ดไป แต่ หากเส้นใยเห็ดเข้าไปยึดพื้นที่ หรือยึดหัวหาดก่อน ไม่เป็นไร

avatar

ใส่ความเห็น