Fri Nov 08, 2013 8:43 am

ดร.อานนท์  เอื้อตระกูล ได้รับเชิญให้ไปบรรยายเรื่องเห็ดเป็นยา ในการประชุมเห็ดเป็นยาโลกครั้งที่ 7 ที่กรุงปักกิ่งระหว่างวันที่ 26-28 สิงหาคม 2556  และได้เขียนลงในวารสารบีเวลล์ ซึ่งเป็นวารสารรายเดือน ที่ ดร.อานนท์ ได้รับเกียรติให้เป็นผู้เขียนกิติมศักดิ์ประจำ โดยวารสารฉบับเดือนตุลาคม 2556 ได้เขียนเรื่องเกี่ยวกับการประชุมทางวิชาการเรื่องเห็ดเป็นยานานาชาติดังนี้

การประชุมเห็ดเป็นยาโลก ที่กรุงปักกิ่ง
ดร.อานนท์  เอื้อตระกูล
ผู้เชี่ยวชาญเห็ด(อาวุโส) องค์การค้าโลก แห่งสหประชาชาติ


เมื่อมีการเปิดตัววารสารเกี่ยวกับเห็ดเป็นยา The International Journal of Medicinal Mushrooms (IJMM) was launched in 1999 by Begell House Inc. (USA) เป็นการจุดประกายสนับสนุนนักวิทยาศาสตร์ที่ทำการศึกษาวิจัย และเกี่ยวข้องกับการใช้เห็ดเป็นยาจากทั่วโลก เห็นพ้องต้องกันว่า เพื่อต้องการขยายความรู้เกี่ยวกับเห็ดเป็นยาให้กว้างขวางยิ่งขึ้น และเป็นการสนับสนุนงานวิจัย รวมทั้งการนำเอาเห็ดเป็นยาไปใช้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการและมีมาตรฐาน จึงทำให้เกิดมีการประชุมเห็ดเป็นยาโลกขึ้นเป็นครั้งแรกที่คีพ (Kiev )ประเทศยูเครน(Ukraine) เมื่อปี 2544 จากนั้นทุกๆ 2 ปี จะทำการจัดการประชุมดังกล่าวหมุนเวียนกันไปยังภูมิภาคต่างๆให้ครอบคลุมไปทั่วโลก

        ประเทศไทยของเรา ได้รับเกียรติถูกเลือกให้เป็นสถานที่จัดประชุมเห็ดเป็นยาครั้งที่ 2 เมื่อปี 2546 ที่พัทยา การประชุมครั้งนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมประชุมจากทั่วโลกมากกว่าพันคนกลายเป็นสถิติที่มีผู้เข้าร่วมการประชุมระดับนี้มากที่สุด ที่หลายๆครั้งของการประชุมต่อๆมาหลายครั้ง ก็ยังมีผู้เข้าร่วมประชุมมีไม่มากเท่าการประชุมที่ประเทศไทย แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่า หลังจากการประชุมดังกล่าว ที่มีนักวิทยาศาสตร์จากไทยจากหลายสถาบันและองค์กรเข้าร่วมมากกว่าประเทศอื่นใด การพัฒนาเกี่ยวกับเห็ดเป็นยาของประเทศไทยยังไม่เคลื่อนไหวมากเท่าที่ควร  ต่างจากความเคลื่อนไหวของวงการเห็ดในประเทศต่างๆทั่วโลก ที่มีความตื่นตัว กระตือรือร้นในการศึกษา วิจัยและนำเอาเห็ดเป็นยาไปใช้กับการรักษาโรคและเสริมสุขภาพแก่มนุษย์และสัตว์กันอย่างกว้างขวางและแพร่หลาย ประเทศที่สร้างผลประโยชน์จาก การทำธุรกิจเห็ดเป็นยาเป็นเรื่องเป็นราว เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ คือ ประเทศญี่ปุ่น โดยส่งนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัย ไปสำรวจและเก็บรวบรวมเห็ดเป็นยามาทำการศึกษาทดลองอย่างจริงจัง   โดยสามารถส้รางผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเห็ดเป็นยาออกมาหลายรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยารักษาโรคมะเร็งจากเห็ดที่มีราคาแพงมาก  เพื่อส่งออกเป็นสินค้าทำรายได้ให้แก่ประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นกอบเป็นกำมาหลายสิบปีแล้ว

         ต่อมา เกาหลี อเมริกา ได้เห็นถึงความสำเร็จของญี่ปุ่น ที่พัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับเห็ดเป็นยาและทำรายได้มหาศาลเข้าประเทศอย่างมากมาย ประเทศดังกล่าว จึงทุ่มเทงานวิจัยและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเห็ดเป็นยา จนสามารถทำการผลิตในผลิตภัณฑ์หลายชนิดจากเห็ดเป็นยาไม่แพ้ญี่ปุ่นเช่นกัน ล่าสุดและแรงสุด ก็คือ ประเทศจีน ที่มุ่งพัฒนาประเทศในทุกด้าน และได้เห็นถึงความสำเร็จของทั้งญี่ปุ่น เกาหลี อเมริกา รวมทั้งรัสเซียที่ประสพผลสำเร็จในการพัฒนาธุรกิจจากเห็ดเป็นยา จึงได้กระตุ้นให้นักวิทยาศาสตร์ของจีนเร่งทำการศึกษาวิจัยเรื่องเห็ดเป็นยาในทุกมิติ เพราะจริงๆแล้ว การใช้เห็ดเป็นยานั้น มีการนำเอามาใช้นับเป็นพันๆปีมาแล้วโดยบรรพบุรุษของจีน เพียงแต่จีนยังไม่มีการพัฒนาองค์ความรู้ดังกล่าวสู่ระดับสากล จากความมุ่งมั่นของรัฐบาลจีนและด้วยความร่วมมือของนักวิทยาศาสตร์และนักธุรกิจของจีน ทำให้มีการพัฒนาแบบบูรณาการในทุกภาคส่วนและหลากหลายชนิดของเห็ดอย่างกว้างขวางและอย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งเสนอตัวเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมเห็ดเป็นยาครั้งที่ 5 ขึ้นที่เมืองหนานตง เมื่อปี 2552 โดยมีนักวิทยาศาสตร์และผู้สนใจจากทั่วโลกเข้าร่วมประชุมมากกว่าพันชีวิต มากกว่าการประชุมครั้งที่ 2 ที่พัทยา

       นับว่า เป็นผลสำเร็จอันยิ่งใหญ่ ทำให้จีนใช้โอกาสนี้ ประกาศในความสำเร็จและยิ่งใหญ่ กลายเป็นผู้นำอันยิ่งใหญ่ในวงการเห็ดเป็นยาของโลก เนื่องจากเป็นการเปิดตัวเกี่ยวกับเห็ดเป็นยาใหม่ๆหลายชนิด เช่น เห็ดถั่งเช่า เห็ดเยื่อไผ่ เห็ดหูหนูขาว เป็นต้น ทางภาครัฐของจีนได้เห็นถึงความสำเร็จของการประชุมระดับโลก ที่ทำให้จีนที่แทบจะไม่ได้อยู่ในสายตาของวงการวิชาการเกี่ยวกับเห็ดเป็นยาในระดับสากลมาก่อน แต่กลับกลายเป็นผู้นำด้านนี้ในชั่วพริบตา ที่เป็นผลของการเป็นเจ้าภาพการประชุมครั้งนี้ ด้วยเหตุนี้ ทางรัฐบาลจีนจึงทำการทุ่มสุดตัว ที่จะขอให้มีการจัดประชุมเห็ดเป็นยาโลกขึ้นอีกหลังจาก การจัดครั้งที่ 6 ที่ประเทศโครเอเชีย ทำให้มีการประชุมเห็ดเป็นยาโลกครั้งที่ 7 ได้กลับมาประชุมกันอีกครั้งที่กรุงปักกิ่งประเทศจีนระหว่างวันที่ 26-29 สิงหาคม 2556  ที่ผ่านมาอย่างยิ่งใหญ่ไม่แพ้การประชุมครั้งที่ 5 ที่เมืองหนานตงเลย ที่ผมเอาประวัติและความเป็นมาต่างๆของความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเห็ดเป็นยาในระดับสากลมาเล่าในครั้งนี้ เนื่องจากผมได้รับเชิญให้ไปร่วมและเป็นผู้บรรยายในการประชุมเห็ดเป็นยาโลกมาหลายครั้ง    รวมทั้งครั้งล่าสุดที่ผ่านมาด้วย เพื่อจะแจ้งให้ทราบว่า ความก้าวหน้าในสาขานี้ ได้มีการพัฒนากันอย่างกว้างขวางและรวดเร็วมาก

         ขณะที่ประเทศไทยของเราได้เป็นเจ้าภาพการประชุมระดับนี้มาก่อนประเทศอื่นกว่า 10 ปีแล้ว แต่เรายังไปไม่ถึงไหนเลย แม้ว่าปัจจุบัน ดูเหมือนว่า ข่าวคราวเรื่องเห็ดเป็นยาของเราได้รับความสนใจกันอย่างแพร่หลายก็จริง แต่งานทางวิชาการของเรายังอยู่ในระดับปฐมเอามากๆ ได้มีหลายสถาบันแสดงความสนใจเกี่ยวกับเห็ดเป็นยา แต่ก็ล้วนแล้วแต่พอทราบว่า ต่างประเทศเขาใช้เห็ดอะไรเป็นยา ก็จะเอาเห็ดชนิดนั้นมาศึกษาแล้วพยายามสกัดเอาสารบางอย่างหรือเฉพาะอย่าง เหมือนกับการสกัดเอายาหรือสารเคมีบางตัว เพื่อจะเอามาทำยาเหมือนกับยาเคมีที่ใช้ในวงการแพทย์ปัจจุบัน     ซึ่งจริงๆแล้ว

การนำเอาเห็ดเป็นยา เพื่อนำมาสกัดเอาสารเดี่ยวๆนั้นในต่างประเทศก็เดินหลงทางเช่นนี้มาก่อนเช่นกัน แต่ปัจจุบัน เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า เห็ดเป็นยา รวมทั้งสมุนไพรนั้น คุณสมบัติที่ทำให้เกิดสรรพคุณทางยา ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสารตัวใดตัวหนึ่งเป็นสำคัญ หากแต่ผลของความเป็นยาต่อร่างกายของมนุษย์และสัตว์ที่ทานเห็ดเป็นยาหรือสมุนไพรเข้าไปนั้น เกิดจากสารหลายชนิดเกื้อกูลกันในการเสริมสร้างคุณสมบัติทางยามากกว่าจะเป็นสารตัวใดตัวหนึ่ง และก็เป็นการยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่า ตำรับตำราเก่าในอดีตตั้งแต่บรรพบุรุษที่ได้ทำการศึกษา สังเกตและบันทึกไว้สืบทอดกันมาเป็นร้อยเป็นพันปี เป็นองค์ความรู้ที่ถูกต้อง ที่เอาบรรดาสมุนไพรและเห็ดหลากหลายมาผสมรวมกันเป็นสูตรเพื่อใช้รักษาโรคต่างๆ

จึงแทบจะไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมการประชุมระดับโลกเช่นนี้ ที่จัดขึ้นในประเทศแถบเอเชีย จึงมีผู้สนใจจากทั่วโลกมาประชุมกันอย่างล้นหลาม ก็เพราะบรรพบุรุษของเราได้ทำการศึกษาเรื่องนี้เป็นตำราสืบทอดกันมาเป็นร้อยเป็นพันปีแล้ว จึงเป็นที่หมายปองของคนทั่วโลก ที่ต้องการจะมาเรียนรู้และเอาสูตรต่างๆเหล่านี้เอาไปใช้บ้าง ผมก็ได้รับเกียรติเป็นอย่างสูง ที่ทางคณะผู้จัดงานประชุมเห็ดโลกครั้งที่ 7 ได้เชิญให้ไปบรรยายเกี่ยวกับการใช้เห็ดเป็นยาในการรักษาโรคแบบองค์รวม (Holistic approach) ที่ได้จากประสบการณ์ในการศึกษาวิจัยและเก็บรวบรวมข้อมูลจากทั่วโลก เมื่อครั้งไปเป็นผู้เชี่ยวชาญเห็ดให้แก่องค์การสหประชาชาติ ในเอเชีย แปซิฟิกและแอฟริกาตั้งแต่ปี 2524-2548 และในวันที่ 27 ตุลาคม 2556 ทางบริษัทบีเวลล์ ได้เชิญให้ผมไปบรรยาย เรื่อง การผลิตและใช้เอ็นไซม์จากเห็ดเป็นยา ที่ผ่านขบวนการหมักด้วยเชื้อโปรไบโอติก ณ ศูนย์ประชุมสิริกิต์ ในงามมหกรรมหนังสือแห่งชาติครั้งที่ 10 ด้วยเช่นกัน

ใส่ความเห็น