หนอนในก้านเห็ด

  • ผู้เขียน
    ข้อความ
    • พฤษภาคม 11, 2017 at 10:15 pm #4075

      เรียน อาจารย์อานนท์ ที่เคารพ

      ผมนายพิชิต อยู่ที่ จ.ลำพูนครับ เคยผ่านการอบรม เลขที่ P90/2355 วันที่ 16/01/2553 การเพาะเห็ดในถุงพลาสติก
      ตอนอบรมยังไม่ได้ทำเห็ดครับ แต่ตอนนี้เริ่มทำแล้ว มีโรงเห็ดอยู่ 2 หลัง
      หลังแรก เป็นเห็ดนางรม(ฮังการี) 3,000 ก้อน เริ่มเปิดดอกปลายเดือนเมษายน
      หลังที่สอง เป็นเห็ดนางฟ้า(สีขาว) 3,000 ก้อน เริ่มเปิดดอกปลายเดือนสิงหาคม
      ยังไม่ได้ทำก้อนเอง ไปซื้อมาครับ (สองหลังซื้อจากคนละฟาร์ม)

      หลังแรก เป็นเหมือนโรงทดลอง เก็บดอกได้ประมาณ 300 กก. ตอนนี้ก้อนเห็ดพังเกือบหมดเนื่องจากมีหนอนเข้าไปทำลาย เห็ดฮังการีนี่ใยหนามากเอาก้อนไปวางไม่ถึงอาทิตย์หนอนมาเลย ตัวสีเทาๆยาวประมาณ 1-2 ซม. ใช้ ฟังแบคคิว กับ ทีบีซี ฉีดตามที่ฉลากบอกไว้ข้างขวด หนอนก็คลานหลบเข้าไปในก้อน บางทีก็ทำขุยไว้หน้าก้อนเป็นบังเกอร์ นอกจากรบกับหนอนแล้วก็ได้ลองวิธีทำให้เห็ดเกิดดอกตามตำราที่อาจารย์แจกตอนเข้าอบรม ไม่ว่าจะเป็นทุบก้อน ย้ายก้อน ใช้นิวคลิโอไทด์ 108 ก็ได้เห็ดคืนมา 300 กก. ตามที่เรียนไว้แต่แรกครับ
      หลังที่สอง หลังนี้เปิดมาได้เกือบครึ่งเดือน (15/09/2553) เก็บดอกเห็ดได้ประมาณ 80 กก.แล้วครับ ใช้ฟังแบคคิวทุกวันเช้า-เย็น ทีบีซี ก็ประมาณ 3 วันต่อครั้ง ตรวจก้อนทุกวันยังไม่มีหนอนเข้าทำลายก้อนเห็ด(สังเกตว่าใยเห็ดนางฟ้าจะบางกว่าฮังการีมาก) แต่เคยเจอหนอนตรงหน้าก้อนตัวใสๆมีใยบางๆเหมือนใยแมงมุมปิดไว้ พบไม่กี่ก้อน ใช้ช้อนแคะออกจากก้อนเห็ด(คว้านเข้าไปลึกนิดหน่อย)แต่ยังไม่แยกก้อนออกมาจากโรงเห็ด

      ที่เจอปัญหาตอนนี้ก็จะเป็นหนอนตัวนี้ครับ (ตามรูป)

      ดอกเห็ดเหมือนจะปกติทุกอย่าง แต่สังเกตเห็นรอยช้ำ รอยหงิก หรือบีบดูก้านจะกลวงๆ พอฉีกออกมาดูพบหนอนตัวนี้ครับ เจอทุกวัน วันละ 3-5 ชุด ไม่ทราบว่าจะป้องกันยังไงครับ แล้วหนอนที่เห็นใช่หนอนแมลงหวี่หรือเปล่าครับ ตอนนนี้เลยต้องเซ็นเซอร์ดอกเห็ดทุกชุดกลัวว่าพอส่งแม่ค้าที่ตลาดแล้วเกิดหนอนไปโผล่ที่โน่นจะเสียเครติตครับ

      อาจารย์ครับตอนนี้ผมมีความคิดว่าจะเสริมมุ้งภายในผนังโรงเปิดซึ่งเป็นซาแลนสีดำ(ส่วนหลังคาเป็นหญ้าคา) รบกวนอาจารย์ช่วยวิจารณ์ด้วยครับ

      ขอรบกวนเวลาอาจารย์เท่านี้ครับ ขอบคุณครับ

      *** พอเจอบอร์ดอาจารย์ก็เข้ามาอ่านทุกวัน ถ้าปัญหาซ้ำกับสมาชิกท่านอื่นก็ขออภัยครับ***

        พฤษภาคม 11, 2017 at 10:15 pm #4076

        นี่ไงเจอเข้าแล้ว เตือนมานักต่อนักแล้วว่า คุณจะทำเห็ดอะไรก็ช่าง ขอให้ป้องกันเอาไว้ก่อน อย่างมาแก้ปัญหาตอนที่มันเกิดปัญหาแล้ว เพราะมันสายไปแล้ว แต่วิธีการแก้ปัญหานั้น อย่าได้แก้ปัญหาด้วยความไม่รับผิดชอบต่อชีวิตคนอื่น ผมกลุ้มใจมาก เพราะเวลาผมพูดอะไรไป ก็ถูกกล่าวหาว่า ทำให้วงการเห็ดเสียหาย แต่จะทำไงได้ มันต้องพูด เพราะเดี๋ยวนี้ มันมีเยอะมาก ของผู้ที่เอาแต่ได้ และไม่ได้คิดถึงชีวิตคนอื่น เมื่อเขาทำเห็ด แล้วเจอตัวหนอนแบบคุณ เขาก็แก้แค้นเอาคืน ด้วยการป้องกันที่ต้องบอกว่าแย่มากๆ คือ ใช้สารฟูราดาน หรือสารฟูราดานนี่แหละ แต่ใช้ชื่อ การค้า เป็นสารดูราแทร์ ที่ทั่วโลกเขาห้ามใช้กับพืชผักที่มีอายุสั้น บ้านเรายังนำเข้ามาได้จากประเทศที่มันบงการเราได้ คือ อเมริกา โดยอ้างว่า เอามาใช้กับพืชที่เราไม่ได้กินโดยตรง เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน โดยสารนี้ เป็นสารประเภทดูดซึม มีผลตกค้างนาน นั่นก็หมายความว่า แม้ว่า คุณโรยฟูราดานที่รากยางพารา มันก็จะถูกดูดไปทั่วต้นยางพารา แล้ว หากเราเอาขี้เลื่อยยางพารามาเพาะเห้ด เราก็ได้สารพิษนั้นเข้าไปในร่างกายด้วย แต่เอาเถอะนั่นมันยังถือว่า ในปริมาณน้อย ร่างกายคนไทยพอรับได้(แต่ตายเพราะมะเร็งและโรคภูมิแพ้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ) แต่สมัยนี้ เขาใช้ฟูราดานผสมในขี้เลื่อยหรือวัสดุเพาะเลยครับ โดยเฉพาะเห็ดหูหนูที่เจอปัญหาไรไข่ปลา แต่ก่อนแทบจะไม่มีใครเพาะเห็ดหูหนูในฤดูฝนได้เลยครับ เพราะไรไข่ปลาเข้าทำลาย เห็ดก็จะไม่ออกดอก แต่ตอนนี้ ไม่มีปัญหาอีกแล้ว เพราะเราพัฒนาเอาสารพิษร้ายแรงใส่เข้าไปในวัสดุเพาะเลยครับ โรงเรือนจะสะอาดปราศจากแมลงรบกวนใดๆทั้งสิ้น ก็จะได้ดอกเห็ดหูหนูที่เต็มไปด้วยสารพิษ ที่ดอกสวยน่ารับประทานมาขายเกลื่อนในตลาดและห้างร้านใหญ่ๆ (ก็ตัวใคตัวมันก็แล้วกัน) ในกรณีหลังแรกของคุณนั้น แก้ไขไม่ได้แล้ว นอกจากคุณมีเวลาพอ ก็นั่งรอดูมันทำ มันจะกินๆๆๆๆๆ แล้วกิน จนกระทั่งมันแน่ใจแล้วว่า คุณพังแน่ๆครับ เพราะบทเรียนนี้ผมโดนมาแล้วครับเมื่อปี 2541 ครับ ตอนนั้นตลาดไท เพิ่งเริ่มเปิดดำเนินการครับ ผมก็ทำเห้ดขอนขาวและเห็ดลมขายไปญี่ปุ่นครับ วันละ 1,500 กก. ไปได้สวย เงินดีมาก เพราะขาย กก.ละ 250 บาท แต่พอตลาดไทเริ่มดำเนินการ เขาก็กรุณาเอาขยะมาทิ้งไว้ใกล้ที่ของผม ที่ฟาร์มเก่า ซอยไอยรา 5/1 ใกล้ตลาดไท พอขยะเน่า เหม็นคลุคลุ้ง หนอนมันก็เกิดขึ้น พอหนอนหลากหลายเกิดขึ้น สักพักมันก็เป็นตัวแก่ พอมันเป็นตัวแก่ มันก็ต้องบินไปหาแหล่งอาหารใหม่ ผมเข้าใจเอาเองน๊ะครับว่า ระยะแรกๆ มันบินไม่เจอของผม หรือเจอแล้ว มันยังสงสารผมอยู่ มันแค่มาดูลาดเลาเท่านั้น แต่มันคงจะไปบวกพรรคพวกของมันว่า ต่อไป หากไม่มีอะไรกินแล้ว ไปหาที่อานนท์ฟาร์มสิ อาหารชั้นดีเยอะเลย ตอนนั้น ผมทำไม่เยอะหรอกครับ ทำโรงเรือนขนาด 6 x 12 เมตร บรรจุก้อนเชื้อได้ 12,000 ก้อน ทำแค่ 24 โรงเท่านั้น คุณก็ลองคำนวณดูก็แล้วกัน ผมมีคนงานอยู่ 82 คน ใหม่ๆผมเก็บเห็ดได้มากกว่าวันละ 3 ตัน ส่งออกเสียครึ่งหนึ่ง รับทรัพย์มันมือมาก แต่พอแมลงที่มนสะสมกันที่กองขยะพร้อมแล้ว อาหารที่กองขยะมีน้อยแล้ว มันชวนกันมาตอนกลางคืนครับ ที่เราเรียกว่า ผีเสื้อกลางคืน หรือมวนกลางคืน พอมันมาถึงปุบๆ มันไม่พูดพล่ามทำเพลงเลยครับ มันจัดการวางไข่ แล้วกลายเป็นหนอน ชอนไชเข้าไปในก้อนเห็ดทั้งหมดพร้อมๆกันเลยครับ จากที่ผมเคยเก็บเห็ดได้ทุกวันๆละมากกว่า 3 ตัน มันเหลือตันเดียว แล้วก็ลดลงอย่างรวดเร็ว จนเหลือไม่กี่กิโลครับ มันลดลงอย่างน่าใจหาย แล้วผลสุดท้าย หน้าก้อนก็เป็นขุย เป็นใยเต็มไปหมด ผ่าดูก้อน ก็ยั้วเยี้ยไปด้วยตัวหนอน จึงระดมเอามุ้งตาข่ายอย่างถี่ 20 รูต่อตารางนิ้ว(เพราะเรียนมาเยอะ เรียนรู้มาก ถึงขนาดความถี่ของตาข่ายที่ดักแมลงได้ครับ) ครอบไปทั้งโรงเรือน เพราะเราคิดว่า เราจะป้องกันไม่ให้ผีเสื้อกลางคืนมาไข่อีก ที่ไหนได้ ไอ้หรืออีหนอนที่มันกินก้อนเชื้อเรา จนมันมั่นใจว่า เราฉิบหายแน่ๆ(ขอโทษ ยังหาคำสุภาพกว่านี้ ยังไม่สะใจพอ) มันก็กลายเป็นผีเสื้อกลางคืน เกาะเต็มมุ้งเลยครับ เกาะยังไม่เกาะเปล่า มันยังออกไขเป็นตัวหนอน ที่พร้อมจะกินอะไรต่อไปอีก หรือจะเข้าไปกินก้อนเห็ดต่อ หากผมยังไม่เชื่อฟังมัน ยังดื้อด้านที่จะทำก้อนเชื้อต่อไป ผลสุดท้าย ต้องยอมมันครับ แต่ก็หมดไปหลายล้านครับ จนกระทั่ง ผมได้พกเอาความแค้นที่จะต้องชำระนี้แหละ มาทำการหมักผลไม้ต่างๆ แล้วนำไปกลั่นเอาเฉพาะกรดที่มีประโยชน์ประมาณ 8 ชนิด มา โดยกรดนี้ จะไม่เป็นอันตรายต่อคนใช้ หรือสภาพแวดล้อม แต่จะทำให้หนอนเวลามันไข่ออกมา มันจะไม่ฟักเป็นตัว หรือแม้มันเป็นหนอนได้แล้ว แต่โดยกรดกลุ่มนี้ มันก็จะไม่ลอกคราบ พอมันไม่ลอกคราบ มันก็จะตายไปในที่สุด และมันยังมีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคพืชและเห้ดอีกด้วย จึงตั้งชื่อว่า ฟัง แบคคิว ครับ ดังนั้น ทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นห้องเขี่ยเชื้อ ห้องบ่มเชื้อ ก่อนเขี่ยเชื้อลงก้อน ก้อนที่นึ่งแล้วใหม่ๆ ก้อนที่บ่ม ก้อนที่กำลังเปิดดอก ผมจะเอาฟังแบคคิวฉีดป้องกันแมลงไว้หมดครับ แล้วก็อยู่ได้จวบจนทุกวันนี้ครับ(นี่เป็นส่วนหนึ่ง ที่ถือ โอกาสร่ายยาวโฆษณาสินค้าไปด้วยในตัว ใช่ว่า จะรอให้คุณประวัติหรือจิว เป็นคนโฆษณาแทนแต่เพียงผู้เดียวครับ) ดังนั้น คุณทำใจเสียเถอะสำหรับโรงแรก และหากทำใจไม่ไหว เอามันออกไปเสีย แกะถุงออก แล้วเอาไปหมักเป็นปุ๋ยขี้หนอนได้แล้วครับ ซึ่งปุ๋ยขี้หนอนนั้นสุดยอดสำหรับพืชทุกอย่างครับ ดีเท่าๆกับปุ๋ยไสเดือนไง แล้วรักษาโรงสองเอาไว้ ตรงไหนที่มีหนอนหลงเข้าไป ก็อย่าแคะเอาหนอนออก สงสารมันครับ อย่าไปรบกวนมัน เดี๋ยวจะบาป ขอให้คุณเอาเข็มฉีดยา ดูดเอาฟังแบคคิวเข้มข้นหน่อยครับ ฉีดเข้าไปในรูให้มันกินแทนครับ หากคุณทนได้ ก็รอดูมันครับ มันจะพรวดพราดขึ้นมารข้างนอกเลยครับ ทีนี้เรื่องของคุณแล้วว่า คุณจะเชิญมันไปสถิตย์อยู่ ณ แห่งหนตำบลใดครับ
        ใช่ครับสำหรับคำถามว่า หนอนตัวเล็กๆที่อยู่ในก้านดอกเห็ดเป็นหนอนจากแมลงหวี่ แต่หนอนที่มันเจาะเข้าไปในก้อนเห็ด หัวดำๆ ที่ทั้งผมและคุณพังไปเหมือนกัน คุณโดนหนึ่งโรง ผมโดน 24 โรง(ผมยังเป็นรุ่นพี่คุณ เพราะผมโดนเมื่อสิบกว่าปีมาแล้ว) นั่น คือ หนอนจากผีเสื้อกลางคืนครับ ผมได้ตั้งชื่อมันไว้นับแต่นั้นมาว่า หนอนริยำครับ(ผวนมาจากระยำ) เอ้แต่ผมสงสัยน๊ะครับว่า ยา ทีบีซีมันเป็นอย่างไงเหรอ เพราะ ทีบีซี ของผมมันหมายความว่า ไทยไบโอเทคน๊ะ แต่คุณเอาทีบีซีผมไปเป็นยาได้ไง ขอได้โปรดให้ความรู้คืนมาให้บ้าง ขอบคุณ

          พฤษภาคม 11, 2017 at 10:16 pm #4077

          ต้องขอขอบคุณอาจารย์ที่กรุณาตอบคำถามของผมครับ

          ทีบีซี ที่ผมเข้าใจก็คือ สารสมุนไพรกำจัดหนอนแมลงและเชื้อรา ครับ อ่านไปอ่านมาไม่รู้ว่าผมเอาสองคำนี้มาผูกเข้าด้วยกันตอนไหนเลยเข้าใจอย่างนี้มาตลอด ต้องขอโทษอาจารย์ด้วยครับต่อไปจะเรียกให้ถูกต้องไม่สับสนอีก

          อ่านจากประสบการณ์ของอาจารย์ ผมเข้าใจว่าผีเสื้อกลางคืนที่ผมเจออาจจะมาจากสวนลำไย ตอนที่เปิดดอกหลังแรกเป็นหน้าลำไยกำลังเริ่มจะสุก บางส่วนก็เริ่มเน่า ตอนกลางคืนจะมีผีเสื้อพวกนี้บินมาเล่นไฟเกาะตรงมุ้งลวดของหน้าต่างเต็มไปหมด ทำเอาจิ้งจกที่บ้านอ้วนท้วนสมบูรณ์กันทุกตัว จิ้งจกร่าเริง ส่วนผมหมองไปเลย

          พอมีเวลาผมจะเข้าเน็ตไปเรื่อยๆ เจอบางที่แนะนำให้ใช้ กากยาสูบ ยาเส้น น้ำยาเส้น ผสมเข้าไปในวัสดุเพาะตอนทำก้อนพวกนี้ช่วยเรื่องหนอนแมลงได้จริงไหมครับ พอดีผมยังไม่เริ่มทำก้อนเลยหาเก็บเป็นข้อมูลไว้ แล้วต่อไปทางศูนย์จะวิจัยส่วนผสมเพิ่มในวัสดุเพาะเพื่อป้องกันหนอนแมลงและไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคหรือเปล่าครับ

          ขอขอบคุณอาจารย์อีกครั้งครับ

        • You must be logged in to reply to this topic.